23 ก.ย.นี้ “วันศารทวิษุวัต” เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน

23 ก.ย.นี้ “วันศารทวิษุวัต” เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน





ad1

เมื่อเวลา 22.30 น.วันนี้ 21 ก.ย.65   ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่าได้รับแจ้งจากงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย 23 กันยายนนี้ “วันศารทวิษุวัต” เป็นวันที่เวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน    ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี  นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือ   ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง และประเทศซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า วันที่ 23 กันยายน 2565 เป็นวัน “ศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน คำว่า “Equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” วันดังกล่าว ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06:07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:13 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง

สำหรับปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ คือ “วันเหมายัน” (Winter Solstice) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม 2565 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้
มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด

ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด และ กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้จะมีช่วงกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน   นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

มานิตย์   สนับบุญ/ปราจีนบุรี รายงาน
CR.คลิป  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท.