ดีเดย์คนจนหมดประเทศ ปลัด มท. ลั่น 30 ก.ย. ต้องทำให้ได้

ลั่น คนจนหมดประเทศ

ดีเดย์คนจนหมดประเทศ ปลัด มท. ลั่น 30 ก.ย. ต้องทำให้ได้





ad1


ปลัด มท. ตั้งเป้า 30 ก.ย. คนจนต้องหมดประเทศ ภารกิจสุดท้าทายที่มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นปลายทาง
.
วันที่ 11 มี.ค. 65 “ภายใน 30 ก.ย. 65 เราตั้งเป้าว่าคนจนจะหมดไป เราจะทำให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข เราจะเป็นแม่ทัพ ขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนประชาชน”  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยเป้าหมายสำคัญที่กระทรวงกำลังมุ่งหน้าทำให้สำเร็จ
.
นายสุทธิพงษ์ ระบุว่า ขณะนี้ภารกิจสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นเต็มที่ และมีการลงพื้นที่ไปทั่วทุกภาคทั่วประเทศนั่นคือการแก้ไขปัญหาความยากจน ที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากยังมีพี่น้องประชาชนประสบปัญหาหลากหลายอย่าง ยังมีคนที่ทุกข์ยากลำบากอยู่ รัฐบาลต้องการให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงมีการตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือการแก้ปัญหาความยากจนแบบตรงเป้า โดยมีท่าน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนทั่วประเทศ
.
โดยทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำ TPMAP  เป็นแผนที่ชี้เป้าว่าพื้นที่ไหนที่ประชาชนคนไทยยังตกเกณฑ์ 5 มิติอยู่ ซึ่งได้แก่ 1. สุขภาพ 2. ความเป็นอยู่ 3. การศึกษา 4. ด้านรายได้ และ 5. การเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยอาศัยฐานข้อมูลมาจากหลายแหล่ง อาทิ กรมการพัฒนาชุมชน ข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การลงทะเบียนคนจน ก็นำข้อมูลมาจากหลายแหล่ง มารวบรวมทำเป็นแผนที่ และส่งผ่านข้อมูลมาให้กระทรวงว่ามีครัวเรือนที่ตกเป้า ตกเกณฑ์อยู่ตรงไหนบ้าง ล่าสุดมีอยู่ประมาณ 1 ล้าน 2 แสนครอบครัว กระจายอยู่ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร นี่เป็นสารตั้งต้นที่เรามีอยู่
.
ขณะเดียวกันเรากำหนดให้ดำเนินการตั้ง ศจพ. ในระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับอำเภอ จังหวัดก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนระดับอำเภอก็มีนายอำเภอเป็นประธาน แนวทางที่สำคัญในการทำงาน เราอาศัยแนวทางโมเดลของประเทศจีนที่เคยแก้จนมาแล้วสำเร็จ เอามาเป็นหนึ่งในแนวทาง เราก็มีการตั้งทีมในตำบล และมีทีมพี่เลี้ยงขึ้นมา ซึ่งมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงลงไปช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบปัญหา หลังจากเราตรวจสอบและยืนยันว่าเขามีความเดือดร้อนจริง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็จะลงไปช่วยเขา
.
ในช่วงเดือนนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้เดินสายไปชี้แจงให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการจังหวัด ปลัดอําเภอ และทีมทำงานที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ เราไปในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้มาแล้ว สัปดาห์นี้จะเดินสายไปภาคกลาง ก่อนที่จะไปที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งภายในวันที่ 11 มีนาคม 2565 เราจะชี้แจงซักซ้อมปลุกใจให้ทีมทำงานไปช่วยกันดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ตามแนวทางที่กำหนด
.
สำหรับการดำเนินการนี้ เราตั้งเป้าว่าไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง หมายความว่าไม่อยากให้ตกหล่นผิดพลาด ดังนั้นการใช้แผนที่ที่ทางสภาพัฒน์ทำมาให้ ชี้เป้าได้ว่าจุดไหนมีปัญหามีคนตกเกณฑ์ เรายังกำหนดขั้นตอนเพิ่มด้วยว่า นอกจากเรามีแผนที่นี้แล้ว เราก็ขอให้กรมการปกครอง ให้นายอำเภอ ให้ท่านผู้ว่า ช่วยตั้งทีมในการรีเอกซเรย์ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะหาคนจนและคนที่เดือดร้อน ใน เรื่องต่างๆ ไม่ใช่ว่าความยากจนในด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว เราก็จะหาประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ของเขาแทบทุกเรื่องด้วย เช่น มีลูกหลานติดยาเสพติด หรือถูกโกง ประสบปัญหามีหนี้นอกระบบ คนไม่มีทะเบียนบ้าน ชื่อตกหล่น ปัญหาบัตรประชาชน ตลอดจนไม่มีที่ทำกิน ถือว่าเป็นเรื่องเดือดร้อนทั้งสิ้น เราก็จะสำรวจและแก้ไข ทางท่านรัฐมนตรีท่านตั้งเป้าว่าให้แก้ไขให้สำเร็จตั้งแต่ระดับอำเภอ ดังนั้นนายอำเภอ จะต้องนำรายการความเดือดร้อนทั้งหมดมาสู่โต๊ะกลม เพื่อหารือวางแนวทางในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหากันต่อไป  ส่วนสำคัญจะอยู่ที่ทีมพี่เลี้ยงที่ต้องลงไปสำรวจให้รู้ปัญหาจริงๆ และวิเคราะห์ปัญหาทั้งหมดให้ออกมา เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ ดูแลอย่างใกล้ชิด
.
ซึ่งเป้าหมายที่เราขีดเส้นเอาไว้ เราก็อยากให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565หรือในเวลาไม่ถึง 7 เดือนเต็มนี้ บางคนอาจจะตั้งคำถามว่าจะทำได้จริงหรือ แต่ส่วนผมมองว่าในหลักการทำงานที่สำคัญ เราต้องมีไทม์ไลน์ชัดเจน เป็นการกระตุ้นปลุกเร้าทุกคนให้เร่งรัดในการทำงาน แต่อย่างไรก็ดี ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงแค่คนของมหาดไทยฝ่ายเดียว แต่ข้าราชการทุกกระทรวงทบวง กรม ความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน ต้องช่วยกันในการดำเนินการทั้งหมด มีหลายประเด็นที่เราต้องเป็นผู้ส่งเรื่องต่อ เช่น ถ้าความเดือดร้อนนั้น ๆ เป็นหน้างานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เราก็จะส่งให้ตัวแทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปขับเคลื่อนดำเนินการ ในการลงไปแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ในขณะเดียวกัน ส่วนไหนที่แก้ไขไม่ได้ก็แจ้งมาที่ส่วนกลาง ก็จะเป็นแนวทางแบบนี้ มีการชี้แจงพูดคุยกัน
.
ภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญ ให้ห้วงที่ กระทรวงมหาดไทย ครบรอบ 130 ปี เราต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ดังนั้น ภายใน 30 กันยายนนี้ คนจนจะหมดไป เราจะทำให้พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สำเร็จให้ได้  เราต้องลงไปค้นหาปัญหาความเดือดร้อนทุกเรื่องที่ประชาชนเขาต้องทนทุกข์ อะไรที่แก้ไขได้ในระดับอำเภอให้ดำเนินการ ถ้าแก้ไม่ได้ให้นำเสนอจังหวัด หรือระดับบน เพื่อช่วยกันหาทางช่วยเหลือแก้ไขต่อไป
.
ทั้งนี้ การเเก้ไขปัญหาจะสำเร็จและยั่งยืนได้ จะต้องเริ่มจากการพัฒนาตัวเอง ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพึ่งพาตัวเอง ขยายผลสู่ระดับชุมชนหมู่บ้านและในระดับพื้นที่ต่อๆ ไป ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาได้ดีที่สุด