อบรมให้ความรู้การผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์โครงการคนกินแดดชายแดนใต้

อบรมให้ความรู้การผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์โครงการคนกินแดดชายแดนใต้





ad1

ยะลา - สำนักงานพลังงานจังหวัดยะลา ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี จัดอบรมให้ความรู้การผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ภายใต้โครงการคนกินแดดชายแดนใต้ ในพื้นที่ อ.เบตง 

นายสกุล  เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง เป็นประธานเปิดการอบรมให้ความรู้การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ภายใต้โครงการคนกินแดดชายแดนใต้ ซึ่งจัดโดยสำนักงานพลังงานจังหวัดยะลา ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี ดำเนินจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์)  โดยมีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกร และภาคประชาชนทั่วไปที่สนใจ เข้าถึงองค์ความรู้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้  ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (ศาลาประชาคม)  อ.เบตง จ.ยะลา

นายถาวร บุญศรี พลังงาน จ.ยะลา  กล่าวว่า การอบรมให้ความรู้การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ในครั้งนี้ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเพิ่มศักยภาพชุมชนด้วยโซลาร์เซลล์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ขยายโอกาสในการเข้าถึงความรู้และการประยุกต์ใช้งานจริงจากโซลาร์เซลล์ สร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์พลังงานให้กับประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมในการร่วมผลิตไฟฟ้าใช้ได้ภายในครัวเรือนหรือหน่วยงานและถ่ายทอดความรู้ต่อไปยังผู้สนใจ รวมทั้งยกระดับองค์ความรู้ในการรับมือภัยพิบัติจากธรรมชาติเป็นชุมชนต้นแบบพึ่งตนเองด้านพลังงานได้เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่  

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี กล่าวว่า  การใช้โซลาร์เซลล์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าระดับครัวเรือนเพื่อพึ่งตนเอง รับมือภัยพิบัติและลดความเหลื่อมล้ำ โดยเน้นการส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตและมีการเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนเพื่อการประยุกต์ใช้โซลาร์เซลล์จริงเชิงประจักษ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้โดยต่อยอดจากโครงการคนบันดาลไฟ   โดยผู้อบรมโซลาร์เซลล์จะกลายเป็นหนังสือที่มีชีวิตในการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อให้ผู้ที่สนใจ สร้างความตระหนักในการผลิตพลังงานใช้เองได้ส่วนหนึ่งในระดับครัวเรือน ระดับองค์กร หน่วยงาน นำไปสู่การผลิตไฟฟ้าเสริมเพื่อการประกอบอาชีพ สร้างความมั่นคงให้เกิดในระดับชุมชนร่วมกัน

สร้างกระบวนการเรียนรู้ รู้เท่าทันพลังงาน จนเกิดเป็นเครือข่ายพลังงานในระดับพื้นที่ จะสร้างความมั่นคง เข้มแข็งให้กับเซลล์ครัวเรือน เซลล์ชุมชน เกิดเป็นต้นแบบในการพึ่งตนเอง และสามารถจะรับมือภัยพิบัติได้ในยามที่เกิดภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย พายุ น้ำท่วมในพื้นที่   โครงการนี้จึงมีความสำคัญในการร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับทุกภาคส่วน ในการทำงานร่วมกัน ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางด้านพลังงาน และร่วมสร้างศักยภาพการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง โดยใช้โซลาร์เซลล์เป็นสื่อในการเรียนรู้ให้เกิดการใช้ได้จริงเชิงประจักษ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ รวมถึงการประชาสัมพันธ์โครงการในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาลจังหวัดชายแดนใต้ ทั้ง 3 จังหวัดเพื่อการติดตั้งโรงพยาบาลละ 100 กิโลวัตต์

เจษฎา สิริโยทัย อ.เบตง จ.ยะลา รายงาน