ศร. เปิดโครงการพัฒนาวิชาการด้านคดี เสริมความรู้แก่บุคลากร

ศร. เปิดโครงการพัฒนาวิชาการด้านคดี เสริมความรู้แก่บุคลากร





ad1

ศร.เปิดโครงการพัฒนาวิชาการด้านคดี ครั้งที่ 1เพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับบุคลากรสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในด้านการศึกษา ค้นคว้า รวบรวมข้อมูลวิชาการ การเขียนทางวิชาการด้านคดี งานวิจัย และบทความทางวิชาการต่าง ๆ อันเป็นการยกระดับและเสริมสร้างมาตรฐานด้านวิชาการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) เปิดโครงการพัฒนาวิชาการด้านคดี ครั้งที่ 1 โดยมี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประสานการจัดกิจกรรมฯ เพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับบุคลากรสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในด้านการศึกษา ค้นคว้า รวบรวมข้อมูลวิชาการ การเขียนทางวิชาการด้านคดี งานวิจัย และบทความทางวิชาการต่าง ๆ อันเป็นการยกระดับและเสริมสร้างมาตรฐานด้านวิชาการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะในการปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการพิจารณาวินิจฉัยคดี ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานเปิดงานฯ และมีนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวรายงาน ณ ห้องรับรอง ชั้น 9 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และในรูปแบบออนไลน์

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 1) การบรรยาย อาทิ เรื่อง “การวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายด้านกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม” โดย นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้ทรงคุณวุฒิ วช., การบรรยาย เรื่อง “เป้าหมายการวิจัยและพัฒนาในเชิงยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และประเด็นการศึกษาที่สำคัญ” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, การเสวนา เรื่อง “การศึกษา ค้นคว้า รวบรวมข้อมูลและการเขียนงานทางวิชาการ” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ศาตราจารย์ ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ทรงคุณวุฒิ และมี นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล เป็นผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ยังมีการบรรยาย เรื่อง “การยกระดับงานวิจัยและวิชาการด้านกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย” มีประเด็นดังนี้ 1. ก้าวต่อไปของงานวิจัยด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดย พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และ2. การออกแบบแนวคิดเพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จ ของงานวิจัยเพื่อความยุติธรรมและความมั่นคงทางสังคม แบ่งเป็น 2 ประเด็น ดังนี้ 1. งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย โดย ศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา แห่ง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ2. การลดความรุนแรงในสังคมไทย : โจทย์ท้าทายที่สำคัญของงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นเป็นผลงานวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุน