อพท.ชวนสัมผัสแล้วจะหลงรัก “บ้านลวงเหนือ ดอยสะเก็ด”อัตลักษณ์ไทลื้อ การันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ

อพท.ชวนสัมผัสแล้วจะหลงรัก “บ้านลวงเหนือ ดอยสะเก็ด”อัตลักษณ์ไทลื้อ การันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ





ad1

"อพท."ชวนสัมผัสแล้วจะหลงรัก “บ้านลวงเหนือ ดอยสะเก็ด”
พิกัดนี้มีดีที่ "อัตลักษณ์ไทลื้อ" การันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ

โดย...ระรินธร เพ็ชรเจริญ

การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นเสน่ห์ที่หากใครได้สัมผัสก็จะหลงรักและประทับใจ เพราะไม่ใช่แค่ความสะดวกสบาย หรือ ผลงานจากการเวิร์คชอป  แต่ที่มากกว่านั้นคือรอยยิ้ม มิตรภาพ ความอบอุ่นในการต้อนรับและดูแลเสมือนคนในครอบครัว  เป็นเหมือนลูกหลาน เพื่อนพี่น้อง ที่มาเยี่ยมเยือนกัน เช่นที่ บ้านลวงเหนือ ต.ลวงเหนือ  อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่  การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ไม่ใช่แค่ได้มาท่องเที่ยว

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ  เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านอัตลักษณ์ชนชาติพันธุ์ไทลื้อ เนื่องจากหมู่บ้านและชุมชนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมายาวนาน กว่า 650 ปี  ดั้งเดิมอาศัยอยู่ที่สิบสองปันนา มณฑลหนึ่งของเมืองจีนปัจจุบัน ได้อพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านลวงเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 1932 เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวแสนอบอุ่น ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยการประพรมน้ำขมิ้นส้มป่อยเป็นสิริมงคลและพิชิตสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อของคนล้านนา จากนั้นก็พาชมเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตไทลื้อผ่านกิจกรรมหลากหลายและงานเวิร์คชอปที่สนุกสนานแปลกใหม่  รวมถึงสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์รวมจิตใจของชาวไทลื้อบ้านลวงเหนือ คือ “วัดศรีมุงเมือง”  และ “เสื้อบ้าน” ที่มีเรื่องเล่ามากมายน่าสนใจ ไม่ว่าจะ ขอพรหรือโยนเหรียญเสี่ยงทาย ล้วนต้องถูกใจนักท่องเที่ยวสายมูเตลู  ถ้านักท่องเที่ยวสายเดินเที่ยวและชอบเรียนรู้  ได้ถ่ายรูปเช็คอิน การได้เยี่ยมชมเฮือนไตลื้อดั้งเดิม  ได้ลองหีบเมล็ดฝ้าย  ตีฝ้ายและปั่นฝ้าย ก็เป็นประสบการณ์ใหม่ๆที่สนุกสนาน  ส่วนสายเวิร์คชอบ ก็จะได้สนุกกับการเจาะปรุทะลุลาย  ใช้ภูมิปัญญานำผงถ่านคัดลอกลายบนถุงย่าม เก๋ไก๋สะพายใส่ของ  หรือจะลองไปหมุนขวดพันด้ายหลากสี มีสมาธิกับการสลับสีสันไปมา ออกแบบวางลวดลาย ไม่นานก็ได้เป็นโคมไฟเส้นด้าย ลายยอดฮิตก็ต้อง “พญาลวง”

แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวสายเกษตร เที่ยวกรีนเพื่อสิ่งแวดล้อม ต้องไปแลกเปลี่ยนความรู้และสัมผัสกับท้องทุ่งนาและธรรมชาติที่ บ้านเย็นตา นาข้าวอินทรีย์   ได้ลองลุยโคลนโยนกล้าข้าว ฟังเรื่องราวข้าวก่ำพันธุ์ดั้งเดิมของไทลื้อสิบสองปันนา ที่หอบหิ้วติดย่ามมาตอนอพยพย้ายถิ่นฐาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รวมไปถึงข้าวแก้ว ที่คล้ายข้าวญี่ปุ่น นำมาทำเป็นซูชิได้ด้วย ยังมีข้าวไรซ์เบอรี่  ข้าวดอกมะลิ 105  ข้าวทับทิมชุมแพ   ทุกเมล็ดเป็นเกษตรอินทรีย์ หรือจะไปเที่ยวทุ่งนา เที่ยวสวน เก็บไข่เป็ด หาปลา เก็บผัก ทำอาหารอย่างสนุกสนาน ที่ทุ่งนาฟ้ากว้าง  รับรองเหมือนไปตั้งแคมป์ตากอากาศบ้านเพื่อน เพราะความเป็นกันเองของลุงต๋อย

ความน่ารักตลอดการท่องเที่ยวในชุมชน คือ สำเนียงเสียงเจื้อยแจ้วแบบภาษาไทลื้อของนักสื่อความหมายของชุมชน ที่ตั้งใจนำเสนออัตลักษณ์ชาวไทลื้อด้วยความภาคภูมิใจ มีเรื่องเล่าเรื่องราวถ่ายทอดอย่างน่าสนใจ รวมถึงการจัด “กาดหมั้วครัวลื้อ” ที่นำอาหารชาติพันธุ์มาให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองลงมือทำและชิม  มีทั้ง “ผามข้าวแคบที่โดดเด่น”เป็นข้าวแคบที่ทำจากข้าวก่ำไทลื้อลวงเหนือ มีความหอมเฉพาะตัว ที่แปลกและสะดวกคือไม่ต้องย่าง ไม่ต้องทอด นำเข้าไมโครเวฟก็ได้ชิมข้าวแคบหอมอร่อย เป็นสินค้าส่งขายทำรายได้ให้ชุมชน  และยังมี ผัดไทไตลื้อ  โซ๊ะบ่าก้วยเต้ด  หรือส้มตำไทลื้อ  ไข่ป่าม  ขนมวง  ข้าวจี่ ข้าวเงี้ยว  ข้าวหมี่ เหล่าชาวชุมชนแต่งชุดไทลื้อ ยก “โตกหลวง”กับอาหารพื้นเมืองแสนอร่อย เสิร์ฟพร้อมกับการขับกล่อมด้วยดนตรีพื้นเมืองและการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ท้ายที่สุดคือการจุดเทียนแสงแห่งศรัทธาอำลากันด้วยความรักและคิดถึง ล้วนเป็นกิจกรรมที่ชุมชนร่วมคิดขึ้น ด้วยหวังให้นักท่องเที่ยวประทับใจและหลงรักบ้านลวงเหนือจนอยากกลับมาเที่ยวหากันอีกครั้ง

นางพรรษา บัวมะลิ   หรือ “แม่ปุก” นักสื่อความหมายบ้านลวงเหนือ  ได้บอกเล่าความภูมิใจที่วันนี้บ้านลวงเหนือ มีนักท่องเที่ยวคิดถึงแวะเวียนมาเที่ยวหาเยี่ยมเยือนกันตลอดกว่า 10 ปี  โดยเริ่มต้นจากฐานงานวิจัย เมื่อปี พ.ศ.2555 มีหลายหน่วยงานมาเป็นทีมพี่เลี้ยง ทั้งสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)   สำนักงานพัฒนาชุมชน และได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลลวงเหนือ   ให้ชุมชนทำโฮมสเตย์  ในการทำงาน เมื่อมีปัญหาอุปสรรค  ชุมชนก็เรียนรู้ พูดคุย และปรับตัวกัน จนพัฒนายกระดับเป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวและเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ได้ “รางวัลต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ของกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา  และ “รางวัลชุมชนช่างคิด” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อปี 2559 “รางวัลชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อปี 2560  “รางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย” ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2561    ล่าสุดคือ “รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือ รางวัลกินรี  ระดับยอดเยี่ยม สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ปี 2564”  ซึ่งทุกรางวัล เกิดจากความตั้งใจและทุ่มเทของคนในชุมชนที่ช่วยกันรื้อฟื้นและรักษาอัตลักษณ์ไทลื้อ เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม มีรางวัลต่างๆรับรองคุณภาพและเป็นความภาคภูมิใจของไทลื้อเมืองบ้านลวงเหนื

นางสาวมยุรี ศรีสุริยพงศ์ และ นายสฐิรพงศ์ มหาวงศนันท์  เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ อพท. 6  เปิดเผยว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เข้ามาช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ  ทั้งด้านองค์ความรู้  การออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องและเหมาะสมกับนักท่องเที่ยวและบริบทชุมชน  การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการจัดกิจกรรมทดลองท่องเที่ยวโดยชุมชน (product testing) เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว  สถาบันการศึกษา บริษัทนำเที่ยว สื่อมวลชนและชาวบล็อกเกอร์  เพื่อร่วมกันให้คำแนะนำการพัฒนากิจกรรมและผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มด้วย

 สำหรับนักท่องเที่ยวสนใจไปเรียนรู้อัตลักษณ์วิถีไทลื้อเมืองบ้านลวงเหนือ สามารถติดต่อได้ที่นางสาวพันธ์ชนก บัวมะลิ  หรือน้องสร้อย ผู้ประสานงานชุมชน  เลขที่ 142 หมู่4 บ.ลวงเหนือ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่  Facebook Fanpage CBT Tailue Luangnue https://www.facebook.com/CBTTaiLueLuangnue หรือ หมายเลขโทรศัพท์  086 919 1915