จิตวิญญาณแห่งสายน้ำน่าน สู่งานหัตถกรรมแกะสลักหัวเรือไม้ ต่อยอดไอเดียสร้างอาชีพ มีรายได้

จิตวิญญาณแห่งสายน้ำน่าน  สู่งานหัตถกรรมแกะสลักหัวเรือไม้   ต่อยอดไอเดียสร้างอาชีพ มีรายได้





ad1

“แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์  แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง” เป็นคำขวัญของเมืองน่าน โดยท่อนวรรคตอนแรก เป็นการสะท้อนความผูกพันของวิถีชีวิตคนน่าน กับสายน้ำน่านที่มีมาอย่างยาวนาน หลักฐานปรากฎผ่านทางจิตรกรรมฝาผนังวัดวัดภูมินทร์ ของ  “หนานบัวผัน” ศิลปินชาวไทลื้อ ในยุคช่วงสมัยของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช   และพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ขึ้นปกครองเมืองน่าน ระหว่าง พ.ศ. 2395-2436  และ “ฟ้อนล่องน่าน” ที่ถือกำเนิดขึ้นจากการเดินทางล่องเรือไปตามลำน้ำน่าน ในช่วงอพยพผู้คนจากเมืองปัว วรนคร ลงมาสร้างบ้านแปงเมืองที่ “เวียงภูเพียงแช่แห้ง” สมัยพญาการเมือง (ครานเมือง) เมื่อปี พ.ศ. 1902 โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมืองและการปกครอง  ช่วงสมัยการย้ายเมืองโดยการล่องแม่น้ำน่าน  เรือเป็นพาหนะสำคัญ และบนเรือนั้นมีงานศิลปะหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน  ตั้งแต่ผ้าซิ่นผ้าทอ  เครื่องประดับและของใช้ที่ทำจากเครื่องเงิน   อย่างเช่น   สลุง หรือ ขัน   งานจักสานที่เป็นเครื่องใช้ไม้สอย และการแสดงศิลปะพื้นบ้านเพื่อสร้างความครึกครื้นสนุกสนานในช่วงระยะพักการเดินทาง  เป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากกว่า 600 ปี

นายณัฐวีย์ ขัติยศ อายุ 44 ปี  หรือ  ช่างอู  เป็นช่างแกะสลักหัวเรือไม้บ้านศรีบุญเรือง   ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน  เล่าว่า “เป็นความผูกพันกับสายน้ำน่าน  เห็นปู่เห็นพ่อ เป็นสล่า (ช่าง) แกะสลักไม้หัวเรือ หรือ หัวโอ้ เป็นช่างขุดเรือใหญ่ที่มีชื่อเสียงทางอำเภอท่าวังผา จ.น่าน  และพ่อเป็นนายท้ายเรือ "ขุนน่าน" ได้ถ้วยรางวัลพระราชทาน 3 ปีซ้อน ครอบครัวเป็นช่างทำเรือ  นั่นคือแรงบันดาลใจ ได้ซึมซับและชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ตัวเองก็เป็นฝีพายเรือ  รวมทั้งยังได้เรียนรู้เทคนิคและลวดลายการแกะสลักไม้  การทาสีลงสี ที่เป็นเอกลักษณ์เรือเมืองน่าน”

ช่างอู เล่าย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาว่า มีช่วงหนึ่งที่ไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว จนปี 2553  เพื่อนมาชักชวนให้ทำงานหัตถกรรมแกะสลักไม้ เพราะเคยเห็นฝีมือที่ชอบวาดหัวเรือมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยเรียนด้วยกัน แนะนำให้ทำพวงกุญแจ  ต่างหู เป็นลายไทย  ทำเรือเล็กๆ  ทำหัวเรือติดเสาโชว์  ทำเป็นเข็มกลัด และเรือจำลองขนาดเล็ก ก็ได้ลองทำขายเป็นรายได้เสริมในช่วงนั้น  จนปี 2555 ชาวบ้านได้ขอให้ไปเป็นนายท้ายแข่งเรือนัดเปิดสนาม และเกิดอุบัติเหตุตกน้ำ จนมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดต้องรักษาตัวอยู่นาน อุบัติเหตุครั้งนั้นเกือบเอาชีวิตไม่รอด และก็ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่บ้าน จึงตัดสินใจทำงานแกะสลักหัวเรือไม้อย่างเต็มกำลังเพื่อให้เป็นอาชีพและรายได้ และได้เริ่มสอนภรรยา  นางธัญรัตน์ ขัติยศ  หรือพี่จิ๋ว ให้มาช่วยกันทำงานแกะสลักไม้ด้วยกัน  โดยแกะสลักไม้เรือจำลองตั้งโชว์หน้าบ้าน แล้วปี 2555  เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ  สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 หรือ อพท.น่าน ก็ติดต่อเข้ามาให้ทำเป็นของที่ระลึก  ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นช่องทางมากขึ้น

จากนั้นก็มีโอกาสได้ร่วมงานในกิจกรรมต่างๆ ในงานพื้นที่สร้างสรรค์ ทำให้ได้ออกโชว์งาน  และจัดกิจกรรมเวิร์คช็อป “แต้มสีหัวเรือจิ๋ว” ให้นักท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงาน พร้อมทั้งได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และความสำคัญของเรือเมืองน่าน ด้วยเรื่องเล่าและเรื่องราวที่สนุกสนานเพลิดเพลิน อีกทั้งยังนำกลับไปเป็นของที่ระลึกและของฝากได้อีกด้วย  เป็นกิจกรรมเวิร์คช๊อปสนุกๆ ที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านศรีบุญเรือง  และได้ร่วมโครงการยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชิงสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน    ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้เทคนิคเชิงช่าง ได้เห็นไอเดียแปลกใหม่ ก็นำมาพัฒนาและทดลองประยุกต์  จากเรือลวดลายดั้งเดิมที่มีรายละเอียด  ก็ออกแบบให้ร่วมสมัยมากขึ้น มีการปรับลดทอนรายละเอียดลง แต่ยังคงเอกลักษณ์ของเรือเมืองน่านหนึ่งเดียวในประเทศไทย คือ หัวโอ้ หรือหัวโขนเรือ  ที่เป็นรูปพญานาค และหางวัลย์ (ส่วนหางเรือ) จะเป็นหางหงส์  และการลงสีหลักๆ 6 สี คือ สีดำ สีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว สีส้ม (หมากสุก) รวมทั้งใช้สีทองเพื่อเพิ่มความโดดเด่น และยกระดับงานแกะสลักด้วยไม้มงคล ได้แก่  ไม้ค้ำ  ไม้ขนุน และไม้สักทอง    ออกแบบทำเป็นที่เสียบปากกา  ของฝากของที่ระลึก

ช่างอูและพี่จิ๋ว ยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า จากการได้ไปร่วมออกร้านออกบูธ ทำให้มีผู้คนสนใจงานแกะสลักหัวเรือมากขึ้น โดย นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้ความสำคัญและสนใจอย่างมาก มาเยี่ยมชมบูธอยู่เสมอ และได้สั่งทำแกะสลักเรือไม้จำลอง ถึง 3 ลำ  ขณะที่ นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้ให้คำแนะนำไอเดียให้ทดลองออกแบบเป็นถ้วยรางวัล   โล่รางวัล แท่นรางวัล ประกอบกับงานแกะสลักหัวเรือไม้เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่านด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบทดลองชิ้นงาน

 “งานแกะสลักหัวเรือ และเรือจำลอง สามารถสร้างเป็นอาชีพและเกิดรายได้ ที่ผ่านมามีลูกค้าจากทั่วประเทศที่สั่งงาน เช่นที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก  จ.ราชบุรี  โรงแรมหลายแห่งสั่งทำเรือไม้แกะสลักนำไปตั้งแสดงโชว์ เมื่อมีคนสนใจทางโรงแรมก็ให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับมา ทำให้ได้งานสั่งเพิ่มขึ้น มีลูกค้าบางรายสั่งทำเพื่อนำไปตั้งโชว์และขายในต่างประเทศ เช่น เยอรมันและญี่ปุ่น  ซึ่งถ้าทำจริงจัง พัฒนาฝีมืออยู่เสมอก็จะสามารถต่อยอดได้หลายอย่าง ตอนนี้มีออร์เดอร์สั่งทำงานแกะสลักเรือไม้จำลอง 10 กว่าลำ และหัวเรือใหญ่ อีก 4- 5 หัวเรือ     งานแกะสลักไม้หัวเรือสามารถทำเป็นอาชีพ  รายได้เป็นหลักหมื่น  ขึ้นอยู่กับ ความประณีต ฝีมือ และไอเดียสร้างสรรค์”

 ซึ่งตอนนี้ งานแกะสลักหัวเรือที่ทำอยู่  มีทั้งการทำแบบดั้งเดิมเพื่อรักษาเอกลักษณ์   ส่วนที่ยกระดับจะเป็นแบบร่วมสมัย สามารถนำไปเป็นของประดับตกแต่งห้องทำงาน หรือเป็นของฝากของที่ระลึกน่ารักๆ   กลุ่มลูกค้าก็กว้างขึ้น  มีเครือข่ายงานปั้นดินตุ๊กตาตัวเล็กๆ ซึ่งให้ปั้นเป็นฝีพายเรือ  ฟ้อนล่องน่าน ฟ้อนแง้น  เพื่อจะนำมาประดับลงในเรือจำลองเป็นการเพิ่มมูลค่าชิ้นงานด้วย  โดยตั้งใจเป็นช่างแกะสลัก  พัฒนางานไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด  อยากให้หน่วยงานสนับสนุนให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ พร้อมถ่ายทอดวิชาด้านนี้  และอยากให้เด็กๆ เยาวชนเมืองน่าน  มาสืบสานภูมิปัญญาความรู้นี้ไว้ไม่ให้สูญหาย เพราะงานแขนงนี้ หาคนทำได้ยาก เป็นงานต้องใช้สมาธิและทักษะฝีมือ ที่ผ่านมาก็สอนแบบฟรีให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน  ใครสนใจอยากเรียน พร้อมถ่ายทอดเพื่ออยากให้งานแกะสลักหัวเรือคงอยู่  หวังในใจสูงสุดคือให้งานแกะสลักหัวเรือเมืองน่าน ได้ไปในระดับนานาชาติ

โดยผู้สนใจงานแกะสลักเรือไม้หรือต้องการเรียนรู้ ติดต่อได้ที่ นางธัญรัตน์ ขัติยศ (พี่จิ๋ว) ที่อยู่ 100 หมู่ที่5 บ้านศรีบุญเรือง ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน 55000 โทรศัพท์ 094-7340894