ท.ต.บางปูจัดทำปลอกคอสุนัข 3 สีนำร่องชุมชนคลองแสนสุขเป็นสัญลักษณ์เตือนชาวบ้านที่เห็น

ท.ต.บางปูจัดทำปลอกคอสุนัข 3 สีนำร่องชุมชนคลองแสนสุขเป็นสัญลักษณ์เตือนชาวบ้านที่เห็น





ad1

สมุทรปราการ-เทศบาลตำบลบางปู จัดโครงการเปลี่ยนสุนัขจรเป็นสุนัขชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยนำร่องโครงการ ด้วยปลอกคอ 3 สี ชุมชนคลองแสนสุข เป็นชุมชนแรก ก่อนขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้ง 46 ชุมชน

ที่ศาลาเอนกประสงค์ ชุมชนคลองแสนสุข ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ นายธีรพล ชุนเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลบางปู ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนสุนัขจรเป็นสุนัขชุมชน ให้อยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสุนัขได้อย่างปลอดภัยโดยทำปลอกคอ 3 สี คือสีแดงหมายถึงสุนัขดุ สีเหลืองให้ระมัดระวัง ส่วนสีเขียวคือสุนัขเป็นมิตร

 โดยพื้นของที่เทศบาลตำบลบางปู มีประชากรสุนัขจรจัดจำนวนมาก ประมาณจำนวน 1,500 ตัว มีทั้งสุนัขที่มีพฤติกรรมเป็นมิตรและไม่เป็นมิตร ทั้งนี้ เทศบาลตำบลบางปู ได้เล็งเห็นถึงการแก้ไขปัญหา โดยหลักการแล้วสุนัขจรจัดที่ก่อให้เกิดปัญหาในชุมชน มาตรการแก้ไขโดยการนำสุนัขออกจากพื้นที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากในที่สุดก็จะมีสุนัขจากพื้นที่อื่นเข้ามาอยู่แทนที่สุนัขตัวที่ย้ายออกไป ตามหลังธรรมชาติ

การเปลี่ยนสุนัขจรให้เป็นสุนัขชุมชนจึงเป็นทางออกของปัญหาที่เป็นการแก้ไขอย่างยั่งยืน ระหว่างชุมชนและสุนัขจรจัด โดยในงบประมาณ 2566 จะเป็นการนำร่อง โครงการดำเนินการกับสุนัขจรจัดที่ได้รับร้องเรียนผ่านทางศูนย์ร้องทุกข์หรือใบคำร้องทั่วไป

 ซึ่งทางเทศบาลตำบลบางปู จะดูแลสุนัขจรจัดที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสุนัขชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การทำหมัน การตัดเขี้ยวในบางรายที่ดุร้าย รวมไปถึงการฝังไมโครชิปเพื่อระบุตัวตนของสุนัขซึ่งจะเป็นโครงการต่อไปโดยกระบวนการเหล่านี้จะเชื่อมโยงไปถึงคนที่ดูแลสุนัขหรือผู้ที่ให้อาหารพวกเขาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อประสานงาน

ส่วนในปีงบประมาณ 2567 จะมีการดำเนินการโครงการเปลี่ยนสุนัขจรเป็นสุนัขชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน อย่างเต็มรูปแบบ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ เพื่อเปิดรับลงทะเบียนสุนัขจรจัดจากผู้ที่ดูแลสุนัขจรจัดในชุมชนต่างๆ ทั้ง 46 ชุมชน โดยสุนัขจรจัดที่ลงทะเบียน จะได้รับการขึ้นทะเบียนประวัติ ได้รับปลอกคอ 3 สี การผ่าตัดทำหมัน วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และได้รับวัคซีนรวมสุนัข 5 โรค เช่น โรคไข้หัดสุนัข โรคลำไส้อักเสบ โรคตับอักเสบ โรคฉี่หนู และโรคหวัด โดยสุนัขที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการสุ่มเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าฯ เป็นต้น

สำหรับ โครงการในปีงบประมาณ 2566 ที่ทางเทศบาลตำบลบางปู ได้ดำเนินการไปแล้ว 1. โครงการเทศบาลเคลื่อนที่รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในชุมชน ดำเนินการไปแล้วทั้งหมดจำนวน 15,971 ตัว ดำเนินการไปแล้ว 90 % 2. โครงการทำหมันสุนัขและแมว ดำเนินการไปแล้วจำนวน 520 ตัว แบ่งเป็น สุนัขจรจัดจำนวน 205 ตัว แมวจรจัดจำนวน 315 ตัว และ 3. โครงการเปลี่ยนสุนัขจรจัดเป็นสุนัขชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยได้ นำร่องชุมชนคลองแสนสุข เป็นชุมชนแรก

โดย...สุทธิวิทย์ ชยุตม์วรกานต์ /สมุทรปราการ