รองโฆษก รทสช. แนะ“เด็กป่วนขบวนเสด็จ “อย่าหาทำ” ชี้ในระดับสากลเป็นโทษระดับก่อการร้าย

รองโฆษก รทสช. แนะ“เด็กป่วนขบวนเสด็จ “อย่าหาทำ” ชี้ในระดับสากลเป็นโทษระดับก่อการร้าย





ad1

จากเหตุการณ์ เยาวชนที่เป็นผู้ต้องหา คดี112 แต่ยังขับรถไปป่วนขบวนเสด็จ สมเด็จพระเทพฯ บีบแตร และมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามากั้น โดยการเสด็จนี้ใช้เวลาสั้นเพียงไม่กี่วินาที และไม่ได้เป็นการปิดถนนการจราจรทั้งเส้นแต่อย่างใด

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ “ลอรี่” รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เห็นด้วยกับการกระทำระรานคนอื่น แต่เปรียบตัวเองเป็นฮีโร่ สร้างบรรทัดฐานสังคมผิดๆ ยัดเยียดความรุนแรงในสังคม โดยใช้เสรีภาพคำกล่าวอ้าง เป็นใบผ่านทาง

“เยาวชนท่านนี้ ควรเอาเวลาไปเรียนให้จบ จะได้ตาสว่างอย่าเป็นเบี้ยของใครง่ายๆ โดยเฉพาะเครือข่ายต่างๆ กลุ่มการเมืองที่จ้องดิสเครดิตสถาบันฯ เพราะน้องทำวันนี้ เพื่อเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม หรือด้วยค่าขนม แต่โทษอาญาติดอยู่กับเราไปตลอดชีวิต หมดอนาคต กว่าจะรู้ก็สาย

บ้านเมืองเราที่น้องๆ โดนกล่อมอยู่ตลอด ว่าไร้สิทธิเสรีภาพ ไม่ทราบว่า เคยรู้หรือไม่ว่ากฎหมายของเราเปิดพื้นที่ให้แสดงออกมากกว่า และโทษต่อประมุขของรัฐ ยังเบากว่า ประเทศเสรีอย่างฝรั่งเศส หรือ สหรัฐอเมริกา

ถ้าน้องทำรูปแบบเดียวกัน คือขับรถโฉบซิ่งเข้าไปป่วนขบวนประธานาธิบดีสหรัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่อยากจะนึก อาจจะไม่ได้อยู่รอดปลอดภัย เพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสามารถลงมือรุนแรงเพื่อป้องกันภัยได้

โดยข้อหาที่เกิดขึ้นของไทย อาจเข้าข่ายเดียวคือก่อความไม่สงบ กฎหมายอาญา “มาตรา110 กระทําการประทุษร้ายต่อกษัตริย์ วงศาขนาญาติ มีโทษจําคุกตั้งแต่ 16-20 ปี”

ส่วนถ้าน้องไปก่อเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกา น้องจะเสี่ยงโดนจำคุกตลอดชีวิต จาก 4 ข้อหานี้ รวมกัน

1. ขัดขวางการทำงานจนท.รัฐ (Obstruction of official duties) ผิดกฎหมายระหว่างรัฐ จำคุก 5 ปี

2. คุกคาม/ ประทุษร้าย (Assualt) จำคุก 2ปี

3. จราจล/ ก่อความไม่สงบ (Disorderly Conduct) จำคุก 6 เดือน

4. เข้าข่ายก่อการร้าย (Terrorism) หากเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง หรือสร้างภัยต่อความมั่นคงชาติ โทษจำคุกตลอดชีวิต

จึงอยากเตือนสติน้องๆ การเรียกร้อง และแสดงสิทธิเสรีภาพ ต้องตั้งอยู่บนกรอบ การเรียกร้องความสนใจ จนเกินเลยขอบเขตกฎหมายเช่นนี้ สร้างความเกลียดชัง และเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมที่รุนแรง อย่างที่เห็นคดีเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธจนถึงแก่ความตาย ขณะที่สื่อมวลชนทั้งหลายควรนำเสนอข้อมูลด้วยจรรยาบรรณสากล ว่าด้วยเรื่อง”No Notoriety” ไม่สร้างตัวตนฮีโร่กับผู้ก่อเหตุ และขอให้กำลังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่เข้ากำกับดูแลความเรียบร้อยด้วยความใจเย็นทุกคน