"ดร.ฝอ เทอดเกียรติ"ร้องรัฐบาลขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดรูปแบบ"เมืองเสินเจิ้น"

"ดร.ฝอ เทอดเกียรติ"ร้องรัฐบาลขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดรูปแบบ"เมืองเสินเจิ้น"





ad1

แม่สอด- "ดร.ฝอ เทอดเกียรติ" และสื่อมวลชน ร่วม เดินหน้าขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด วอนรัฐบาลใช้รูปแบบ"เมืองเสินเจิ้น" 

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ดร.เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ "นายกฝอ" อดีตนายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก / ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาพัฒนาพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือตอนล่าง และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ , หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (ตาก) กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อน เพื่อการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ต่อไป หลังจากไม่มีความคืบหน้าในการขับเคลื่อนมานานกว่า 20 ปีว่า  แนวคิดในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (ตาก) นั้น มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และได้ประกาศจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ต่อด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมาจนถึงพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 คน 

แต่เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ปกติทำให้การขับเคลื่อนไม่ต่อเนื่อง ทั้งที่ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมานานกว่า 20 ปี แต่ก็เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยที่ล้มเหลว ทั้งที่ไปดูงานมาหลายประเทศ รวมทั้งเมืองเสินเจิ้น ประเทศจีนแล้ว ซึ่งจากการดูงานแล้ว สุดท้ายเขตเศรษฐกิจที่เป็นรูปแบบรูปธรรมที่ชัดเจน จับต้องได้ ประสบความสำเร็จคือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เสินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลจีนได้กระจายอำนาจ มีคณะกรรมการใหญ่เป็นรูปแบบไตรภาคี มาจากทุกภาคส่วนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภายใต้กฎหมายที่ออกมาเป็นพระราชกำหนด  เช่นจากส่วนราชการมาจาก 21 กรม คือ กระทรวง ทบวง กรม ที่มีอำนาจเต็ม ทำให้ก่อให้เกิดรายได้จากการบริหารในพื้นที่ เช่นค่าธรรมเนียมจากแรงงานต่างด้าว ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ภาษีรถยนต์ น้ำมัน หรือ ธุรกรรมต่างๆ โดยสามารถแบ่งรายได้ให้กับรัฐบาลตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และกำหนดไว้

ดร.เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ "ดร.ฝอ" กล่าวต่อว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ"เมืองเสินเจิ้น" ของรัฐบาลจีน มีความเจริญก้าวหน้ามากจนถึงขณะนี้ได้ก่อตั้งมานานร่วม 30 ปีแล้ว นั้นจากเดิมเมืองเสินเจิ้น มีประชากร 30,000 คน มีพื้นที่ติดทะเล มูลค่าการซื้อขายไม่กี่ล้านหยวน แต่ปัจจุบันมีประชากรกว่า 12 ล้านคน และมูลค่าการซื้อขายในปัจจุบัน อยู่ประมาณกว่า 2 แสนล้านหยวน การบริการเขตพัฒนาเศรษฐกิจของจีน จะแยกเป็นจังหวัด พร้อมโครงสร้างบุคลากรที่มีอำนาจ โดยยึดหลักสภาพพื้นที่แต่ละจังหวัดที่มีความแตกต่างกันด้านศักยภาพ ความแตกต่าง จุดแข็ง จุดอ่อน และบริบทในพื้นที่ต่างกัน 
                            
ดร.เทอดเกียรติ กล่าวอีกว่า มีความเห็นด้วยกับรัฐบาลจะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ แต่การบริหารด้านบุคลากร ต้องแยกออกจากกัน เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันด้านสภาพพื้นที่ และศักยภาพ เช่น ที่แม่สอดมีการค้าชายแดนที่มีความละเอียดอ่อน มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดของประเทศไทย มากถึงปีละ 1 แสนบ้านบาท หรือ พื้นที่จังหวัดใด มีศักยภาพ มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไรก็สามารถบริหารได้ของพื้นที่นั้นๆ

สำหรับปัญหาความล่าช้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตากนั้น นักธุรกิจ นักลงทุน ในพื้นที่ และต่างพื้นที่จากหลายวงการต้องการให้เกิดขึ้น เพราะความล่าช้าทำให้พื้นที่เสียโอกาสหลายๆด้าน 

รายงานข่าวแจ้งว่า ดร.เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ ได้ประชุมทีมงาน และเชิญเครืข่ายสื่อมวลชนชายแดนจังหวัดตาก(แม่สอด) เพื่อร่วมหารือการทำงาน  และขอให้ทางเครือข่ายสื่อมวลชนแม่สอด ได้ร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด  โดยจะเร่งนำข้อมูลด้านต่างๆ เสนอต่อรัฐบาล โดยใช้รูปแบบ"เมืองเสินเจิ้น" ของจีน 

โดยทางเครือสื่อมวลชนชายแดนแม่สอด จะจัดให้มีการประชุมสัมมนาเหนือตอนล่าง และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (ตาก) โดยจะร่วมกับหน่วยงานราชการ ในพื้นที่ชายแดน= สถาบันการศึกษา=องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อร่วมเสนอแนวคิด และร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ไปด้วยกัน