อดีตหนุ่มแบงก์ลาออกจากงาน หันมาทำฟาร์มผักสลัดอินทรีย์ ขายได้หลักแสนต่อเดือน

อดีตหนุ่มแบงก์ลาออกจากงาน หันมาทำฟาร์มผักสลัดอินทรีย์ ขายได้หลักแสนต่อเดือน





ad1

เกษตรกรรุ่นใหม่ "กษิดิ์เดช วงใหญ่" หรือ “ลิกเกอร์” อายุ 24 ปี อดีตทำงานธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในจ.นครราชสีมา ตัดสินใจลาออกจากงาน กลับบ้านเกิด เปิดฟาร์มสลัดปลอดสาร “Liger Organic” ที่บ้านใหม่หนองบัว หมู่ที่ 7 ต.ตะแบกบาน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา

กษิดิ์เดช บอกว่า หลังจากตัดสินใจลาออกจากงาน มาปลูกผักสลัดอินทรีย์ บนที่ดินของลุง ส่งจำหน่ายอย่างเอาจริงเอาจัง จนตอนนี้ผลผลิตออกไม่ทันต่อความต้องการของตลาด แม้จะสามารถทำสินค้าได้มากถึง 1-2 ตันต่อเดือน ในราคากิโลกรัมละ 70 บาทก็ตาม หรือตกเฉลี่ยจะมีรายได้จากการปลูกผักสลัดไม่น้อยกว่าหลักแสน ทำให้ตอนนี้ต้องเตรียมลงทุนขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติม เพื่อให้มีผลผลิตทันตามออเดอร์ที่เพิ่มมากขึ้น

เจ้าของฟาร์มสลัดปลอดสาร “Liger Organic” กล่าวว่า ตัวเองเรียนจบปริญญาตรีในสาขาการจัดการโลจิสติกส์ มาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ก่อนหน้านี้ได้ไปเขาทำงานเป็นพนักงานของธนาคารแห่งหนึ่งในตัวเมืองนครราชสีมารับเงินเดือน 15,000 บาท แต่ด้วยมีความชอบการเกษตรเนื่องจากที่บ้านส่วนใหญ่ก็คลุกคลีอยู่กับวงการเกษตร รวมทั้งชอบทานผัก ประกอบกับคิดถึงคำพูดของพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยบอกเอาไว้ว่า “ผักปลอดสารที่แท้จริงนั้นหาได้ยาก หากทำได้ความต้องการก็น่าจะสูง” จึงได้ศึกษาหาข้อมูลจากทางสื่อและหน่วยงานต่างๆ เพื่อมาทดลองปลูกผักไว้กินเองและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

กษิดิ์เดช บอกต่อว่า เมื่อยิ่งได้ทดลองทำก็ยิ่งชอบ จึงตัดสินใจลาออกจากงานที่เพิ่งทำได้ไม่ถึงปี เพื่อมาลงมือปลูกอย่างจริงจัง โดยมุ่งที่จะปลูกผักสลัดปลอดสารเคมีเพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคผักที่มีสะอาดปลอดภัยดีต่อสุขภาพ ขอใช้ที่ดินของลุงแท้ๆ ด้านหลังบ้าน ที่ก่อนหน้านี้เป็นที่นา สวนปาล์มและสวนมะพร้าว มาขุดบ่อสร้างแหล่งน้ำดิบที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมของตัวเองได้ เอาไว้ใช้ในการเพาะปลูก จากนั้นก็สร้างโรงเรือนปลูกผักสลัดจำนวน 2 ไร่ เพื่อเริ่มต้น  โดยตั้งธงที่จะให้ปลอดสารเคมีทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน ปลูก กำจัดวัชพืช การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ไปจนสิ้นสุดกระบวนการเก็บเกี่ยว ทั้งหมดจะไม่มีการนำสารเคมีเข้ามาสู่กระบวนการแม้แต่น้อย

เจ้าของฟาร์มสลัดปลอดสาร “Liger Organic” กล่าวถึงขั้นตอนการปลูกผักสลัดอินทรีย์ว่า ในการเตรียมดินนั้นก็จะเริ่มจากการตีดินและใช้ปุ๋ยหมักมารองพื้นหมักบ่มให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกผักในหนึ่งรุ่น ดูแลรดน้ำให้ปุ๋ยอินทรีย์ผ่านระบบน้ำ กำจัดวัชพืชด้วยวิธีการถอน ไล่แมลงด้วยสารสกัดและน้ำหมักชีวภาพ ตลอดอายุการเก็บเกี่ยว และควบคุมพื้นที่โดยรอบเพื่อไม่ให้มีสารเคมีเข้ามาเจือปนอย่างดี  พอได้ผลผลิตก็เริ่มต้นจากการขายเองในพื้นที่และออนไลน์ ต่อมาจึงเริ่มขยายค้นหาตลาดด้วยตัวเอง และปรึกษากับทางสำนักงานเกษตรอำเภอ ทำให้ตอนนี้ได้รับความสนใจจากตัวแทนบริษัทส่งจำหน่ายผักปลอดสารพิษรายใหญ่ มาติดต่อรับซื้อผักสลัดของตัวเองทุกอาทิตย์

กษิดิ์เดช บอกอีกว่า เฉลี่ยตอนนี้ตัวเองสามารถเพาะปลูกผักสลัดได้ประมาณเดือนละ 2-3 ตัน แต่ก็ยังไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า จึงเริ่มที่จะขยายแปลงเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้นอีกเกือบ 7 ไร่ จากตอนนี้ที่มีอยู่ประมาณ 3 ไร่เศษ  เพราะมองดูแล้วว่า ช่องทางการตลาดผักสลัดปลอดสารพิษนั้นนับวันยิ่งจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น เพราะทุกวันนี้การทำผักสลัดปลอดสารนั้นมีความยากเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แมลงศัตรูพืชที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้กระบวนการผลิตในการทำให้ปลอดสารพิษทั้งระบบทำได้ยากตามไปด้วยเช่นเดียวกัน จึงอาจจะทำให้คู่แข่งขันทางตลาดลดน้อยลงในอนาคต ในขณะที่ความต้องการยังคงสูงอยู่

เจ้าของฟาร์มสลัดปลอดสาร “Liger Organic” กล่าวถึงแผนการในอนาคตว่า ตอนนี้ก็เตรียมที่จะลดต้นทุนการผลิตด้วยการเพาะเมล็ดพันธุ์เอาไว้ใช้เอง เนื่องจากหากทำได้จะลดต้นทุนการผลิตได้อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ล่าสุดเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของคู่ค้าและผู้บริโภค ทางฟาร์มกำลังอยู่ในระหว่างการขอการรับรองมาตรฐานออร์แกนิก ไทยแลนด์ จากกรมวิชาการเกษตร รวมถึง การเข้าร่วมตรวจประเมินแปลงผักอินทรีย์ Korat Organic Standard หรือ KOS. เพิ่มเติมด้วย

สำหรับใครที่สนใจอยากสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปสอบถามได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Liger Organic หรือ โทรสอบถามได้ที่หมายเลข 08-1879-4512.