ล้งไทย-จีน เปิดศึกแย่งกว้านซื้อทุเรียนภาคใต้เหมายกสวนดันราคาพุ่ง


ผลผลิตทุเรียนทั่วภาคใต้ปี 2567 ลดลงกว่า 8 % ต้นเหตุแล้งร้อนจัดลากยาวบริโภคน้ำมากเกินเป้าหมายที่สำรองไว้ พัทลุง คึกคักล้งไทย จีน กว๊านซื้อเหมายกสวน และประเภทกิโลกรัม ระบุ ลงทุนปลูกทุเรียนเก็บเกี่ยวฤดูกาลเดียวถอนต้นทุนคืน แถมยังพกกำไรด้วย ขณะทีสวน “ทุเรียนอินทรีย์” ต้นทุนการผลิตทุเรียนอินทรีย์ 30 บาท / ต้น ทุเรียนเคมี 100 บาท / ต้น ได้ผลผลิต 7 ตัน ปี 67 ราคาสูงกว่าทุเรียนทั่วไป โดยราคาทุเรียนทั่วไปท้องตลาดปี 2566 ที่ราคา 110 บาท / กก. แต่ทุเรียนอินทรีย์ ราคา 150 บาท แต่หากได้ใบรับรองเกษตรอินทรีย์จะได้ราคา 400 บาท / กก.
นายไพรวัลย์ ชูใหม่ อดีตนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ที่ปรึกษาทำสวนทุเรียน เปิดเผยว่า ได้รับเป็นที่ปรึกษาสวนทุเรียนอินทรีย์หมอนทองของนางละเอียด นิ่มนุ้ย หมู่ 7 บ้านควนสูง ต.ตะแพน อ.ศรีบรรพตจ.พัทลุง ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 เป็นการทำสวนอินทรีย์เกษตรธรรมชาติมา 8 ปี การเกษตรอินทรีย์ คือการใช้ปุ๋ย น้ำหมัก ธาตุอาหาร ยากำจัดศัตรูพืช ต่างเป็นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งสิ้น และทั้งหมดไม่มีการใช้สารเคมี ซึ่งสวนทุเรียนอินทรีย์ได้ใบรับรองเป็นสวน GAP แต่ยังไม่ได้รับรองเป็นสวนทุเรียนอินทรีย์ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยทำสวนอินทรีย์มาแล้วจำนวน 8 ปี สวนเกษตรอินทรีย์จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ ทั้งคนทำ และคนกิน และสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศน์
นายไพรวัลย์ กล่าวอีกว่า เกษตรธรรมชาติต้องมีปฎิทิน การให้อาหาร ให้น้ำ ตกแต่งกิ้ง ก้าน ดอก โยงผล ฯลฯ และที่สำคัญมากในการทำสวนทุเรียนอินทรีย์ คือดินในดินจะต้องมีตัวใส้เดือน ซึ่งจะเป็นตัวย่อยสลาย และมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัวหลุม หมูหลุม เป็นต้น และจะต้องมีโรงทำปุ๋ย ปุ๋ยหมัก และในดินต้องไม่มีเคมี ยาฆ่าหญ้า ฯลฯ
นายไพรวัลย์ กล่าวว่า สวนทุเรียนอินทรีย์จะลดต้นทุนไปถึง 70 % เช่น ทุเรียนที่ใช้เคมี ฯลฯ จะมีต้นทุนประมาณ 100 บาท / ต้น แต่ทำทุเรียนอินทรีย์จะมีต้นทุนประมาณ 30 บาท / ต้น โดยปี 2567 ให้ผลผลิตประมาณ 53 ต้น ผลผลิตประมาณ 2,600 ลูก
“ทุเรียนอินทรีย์เมื่อปีที่แล้ว 2566 ให้ผลผลิตประมาณ 5 ตัน ได้ราคาประมาณ 150 บาท / กก. โดยราคาทุเรียนที่ไม่ใช่อินทรีย์ ราคา 110 บาท / กก. และในปี 2567 จะให้ผลผลิตประมาณ 7 ตัน โดยประมาณกลางเดือนสิงหาคม จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และราคาก้คงจะใกล้เคียงกัน และได้มีการสั่งจองมาล่วงหน้าแล้วที่เป็นเงินประมาณ 30,000 กว่าบาท”
นายไพรวัลย์ กล่าวว่า สวนทุเรียนได้ใบรับรองเกษตรอินทรีย์แล้วราคาก็จะปรับตัวขึ้นอีก อย่างเช่น ทุเรียนอินทรีย์ จ.ระยอง ราคาถึง 400 บาท / กก. แต่ถึงอย่างไรใบรับรองเกษตรอินทรีย์อยู่ระห่างดำเนินการ
“สวนอินทรีย์จะสามารถพิสูจน์ตรวจสอบได้คือการมีรังผึ้งโพรงไทยอยู่ในสวนอินทรีย์ เพราะหากสวนทุเรียนที่ใช้สารเคมี ผึ้งโพรงไทยจะไม่อาศัยอยู่” นายไพรวัลย์ กล่าว
แหล่งข่าวจากลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ จ.พัทลุง เปิดเผยว่า การลงทุนปลูกทุเรียนยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นรายขนาดย่อย ไม่เป็นแปลงขนาดใหญ่เนื่องมีข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่ และที่ลงทุนมาแล้วโดยทำสวนทุเรียนอย่างมืออาชีพต่างประสบความสำเร็จ
โดยปี 2566 ฤกาลทุเรียนที่ผ่านมาบางรายประสบคามสำเร็จ มีรายได้แปลงละ 1 ล้านกว่าบาท จากที่ได้ลงทุนซื้อที่ดินมาพัฒนาปลูกทุเรียน โดยออกขายผลผลิตในฤดูกาลเดียวสามารถถอนทุนคืนจากต้นทุนจากลงทุนซื้อที่ดิน ลงทุนการปลูกทุเรียน วัสดุอุปกรณ์ และยังมีกำไรติดด้วย
ส่วนการซื้อขายทุเรียนขณะนี้พ่อค้าทุเรียนได้เคลื่อนไหวการซื้อขายกันแล้ว เนื่องจากทุเรียนุร่นแรกเริ่มมีการเก็บเกี่ยว โดยประมาณวันที่ 19-20 กรกฎาคมจะมีการเก็บเกี่ยวขนาดใหญ่ในพื้นที่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง โดยจะมีการซื้อขายประเภทเหมาสวน และซื้อขายเป็นประเภทกิโลกรัม
โดยเจ้าของสวนทุเรียนบางรายมีการเสนอขาย โดยทุเรียนจำนวน 30 ต้น โดยให้ผลผลิตประมาณ 1,600 ลูกในราคา 400,000 บาท และสวนทุเรียนลงมาเสนอราคาขายประมาณ 220,000 บาท โดยมีการเฉลี่ยทุเรียนที่ประมาณ 2.50 กก. และ 3 กก. / ลูก
นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาพบว่า ทุเรียนภาคใต้มีเนื้อที่ยืนต้นประมาณ 814,414 ไร่ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณ 12.12% เนื้อที่ให้ผลประมาณ 578,464 ไร่ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.71% ซึ่งประมาณการผลผลิตปี 2567 ประมาณ 558,353 ตัน ลดลงจากปี 2566 ประมาณ 8.83% ผลผลิตเฉลี่ย 965 กก. / ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา 13.76% ปัจจัยเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย แล้งอากาศร้อนฝนทิ้งช่วงยาวนาน เกิดน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ดอกผลร่วงรวมทั้งมีผลต่อคุณภาพผลผลิตทำให้รูปทรงผลไม่สวย
นายวุฒิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผลผลิตทุเรียนในปี 2567 จำนวน 558,353 ตัน จะเป็นทุเรียนในฤดูกาลภาคใต้ ซึ่งเก็บเกี่ยวช่วงระยะเดือนมิย.-ตค. 2567 โดยประมาณ 82% หรือประมาณ 455,082 ตัน ส่วนที่เหลืออีก 18% ประมาณ 103,271 ตัน จะเป็นทุเรียนนอกฤดู ซึ่งจะเก็บเกี่ยวช่วงระยะเดือนมค. -พค. และ พ.ย.-ธ.ค.2567 ซึ่งปัจจุบันเก็บเกี่ยวทุเรียนในฤดูกาลแล้วร้อยละ 13.58% หรือประมาณ 61,806.08 ตัน.