น่าน “เมืองเก่าที่มีชีวิต” สู่ความสำเร็จ รางวัล TOP 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก เหรียญทองแรกของไทยและอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย ด้านภาคธุรกิจท่องเที่ยวชี้สร้างการรับรู้ หนุนแรงจูงใจและพร้อมปรับตัวสร้างจุดขาย “น่านเมืองยั่งยืน”

น่าน “เมืองเก่าที่มีชีวิต” สู่ความสำเร็จ รางวัล TOP 100  แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก เหรียญทองแรกของไทยและอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย   ด้านภาคธุรกิจท่องเที่ยวชี้สร้างการรับรู้ หนุนแรงจูงใจและพร้อมปรับตัวสร้างจุดขาย “น่านเมืองยั่งยืน”





Image
ad1

น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต หนึ่งในจุดหมายปลายทางทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ได้แสดงศักยภาพอย่างต่อเนื่องในเวทีระดับโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน โดยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อ Sustainable Destinations TOP 100 ถึง สามครั้ง ในปี 2563, 2564 และ 2566 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเมืองน่านในการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม พร้อมกับการพัฒนาท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างแท้จริง

ความสำเร็จของเมืองน่านไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะล่าสุด ในเดือนกันยายน 2567 เมืองน่านยังได้รับ รางวัลเหรียญทอง Green Destinations Gold Award 2024 ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชียที่คว้ารางวัลนี้มาได้ โดยรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นโดย Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับงาน ITB Berlin งานท่องเที่ยวระดับนานาชาติของเยอรมนี การได้รับรางวัลนี้ไม่เพียงแค่เป็นการยืนยันคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของเมืองน่านสู่สายตานักท่องเที่ยวทั่วโลกผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการและช่องทางการประชาสัมพันธ์ระดับสากล

เบื้องหลังของความสำเร็จนี้ คือความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่า 40 หน่วยงาน ภายใต้การขับเคลื่อนของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ร่วมกับ เทศบาลเมืองน่าน ภาคธุรกิจ และชุมชนท้องถิ่น โดยได้ดำเนินการตาม เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) จำนวน 38 ข้อ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562   นอกจากนี้ เมืองน่านยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านให้เป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยเน้นการอนุรักษ์คุณค่าเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อม พร้อมยกระดับบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้มาเยือน

เสียงจากผู้ประกอบการ: การปรับตัวที่ต้องเริ่มจาก “การรับรู้

พี่แตหรือ คุณจันทิรา ชินสุขเสริม ที่ปรึกษาประธานชมรมที่พักจังหวัดน่าน และเจ้าของโรงแรม น่านบูติก โฮเทล แอนด์ รีสอร์ต ซึ่งเป็นโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) และยังคงได้รับการรับรองอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยถึงประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับการปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดน่านว่า  การปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว หลังจังหวัดน่าน ได้รับรางวับ top 100  ต้องถามผู้ประกอบการหรือว่าคนในพื้นที่ก่อน ว่าเขารู้จักรางวัลนี้มากน้อยแค่ไหน  โดยส่วนตัวพี่แตให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีการผลักดันขับเคลื่อนตัวรางวัลนี้ และพอได้รู้จักกับสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน  (อพท.น่าน) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานน่าน (ททท.น่าน) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน ทำให้ได้รับรู้มาตลอดในเรื่องของการทำ  Green Destinations หรือ top 100  และเราก็ได้ความรู้มาปรับใช้กับโรงแรงของเราเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้ามองกลับไปที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็ไม่รู้ว่าเขาเห็นความสำคัญหรือเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าไม่เข้าใจไม่เห็นความสำคัญ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องปรับตัวยังไง และไม่เห็นประโยชน์กับการที่จังหวัดน่านได้รางวัลนี้มา” 

เราเห็นความสำคัญมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีรางวัล และดำเนินแนวทางในเรื่องของการจัดการเรื่องความยั่งยืนในเรื่องธุรกิจของเราอยู่แล้ว    พอหน่วยงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ ก็ได้ยกโรงแรมของเราเป็นตัวอย่างการประเมิน เราก็รับรู้ตลอด ว่า Green Destinations top 100 คือรางวัลอะไร และมีเพื่ออะไร แต่คิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทราบและไม่เข้าใจ  จะมีก็แต่คนที่ทำงานเรื่องนี้ เช่น หน่วยราชการ เทศบาลเมืองน่าน แต่อย่างประชาชน พ่อค้าแม่ค้า อย่างเช่น ถนนคนเดินน่าน  ก็ไม่รู้ว่ามีความเข้าใจในเรื่องนี้ไหม รู้หรือไม่ว่า ตำบลในเวียง ได้รางวัลแล้ว  ได้เพราะอะไร มันคือรางวัลอะไร และต้องทำยังไงถึงจะได้รางวัลมา ซึ่งคิดว่าไม่ถึง 50% ที่รับรู้ในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็จะปรับตัวอย่างไร ไม่รู้จุดประสงค์ของการปรับตัว ทำไปแล้วจะได้อะไร เพื่ออะไร  ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องความยั่งยืน ที่ไม่ได้ใช้เวลาทำได้ในระยะเวลาอันสั้น มันต้องใช้เวลาเป็นปี อย่างโรงแรมของเรา มีแนวคิดเรื่องความยั่งยืนอยู่ก่อนแล้ว เพราะมันคือธุรกิจของเรา เป็นแนวทางที่ทำอยู่แล้ว และคนที่ทำมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ก็แทบจะไม่ได้ต้องปรับตัวอะไร  ก็เห็นผลของมันอยู่แล้ว  แต่หากไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้เริ่มเลย แล้วมารู้จักวันนี้ ก็ต้องเรียนรู้ว่ามันจะเริ่มต้นตรงไหนได้ ซึ่งก็ต้องใช้เวลา เพราะเป็นเรื่องของความเข้าใจและความร่วมมือ ผู้ประกอบการมีความเข้าใจให้ความสำคัญ ก็ต้องไปถ่ายทอดให้กับพนักงานเข้าใจ  เพื่อจะได้ถ่ายทอดสู่ผู้รับบริการ และเครือข่ายอื่นๆด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของงบประมาณที่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ก็เพื่อความยั่งยืน ที่ผ่านมาในฐานะประธานชมรมที่พักจังหวัดน่าน ก็ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับเครือข่ายสมาชิกมาโดยตลอด จนสมาชิกผู้ประกอบการที่พัก กว่า 20 แห่ง จาก 100 กว่าแห่ง ซึ่งคิดเป็น 20% ได้ปรับตัวเป็นโรงแรมและที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Hotel ซึ่งมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คอยประเมินเพื่อต่อใบรับรองทุกๆ 3 ปี

แต่ตอนนี้ เหลือโรงแรมที่เป็น Green Hotel ในเขตเมือง เพียง 4-5 แห่ง เท่านั้น เพราะว่า โรงแรมที่เคยได้รับรอง ไม่ขอต่อการประเมินรับรอง เนื่องจากเห็นว่า ทำแล้วไม่ได้อะไร  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาครัฐส่งเสริมแต่ไม่ได้สนับสนุนจริงจัง เช่นเรื่องการใช้บริการ ด้วยหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายตามระเบียบ ก็ต้องใช้บริการราคาถูกตามเรทราคาราชการ ซึ่งเราก็เข้าใจเรื่องนี้ แต่ก็ควรสนับสนุนแรงจูงใจด้านอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบการด้วย ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงเรื่องที่พัก ยังมี Green product ต่างๆ เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Restaurant)  สำหรับโรงแรมที่ยังได้รับการรับรอง ได้แก่ โรงแรม น่านบูติก โฮเทล แอนด์ รีสอร์ต   โรงแรมเวียงแก้ว อ.ภูเพียง  โรงแรมน่านตรึงใจ ซึ่งโดยส่วนตัวที่ทำโรงแรม  Green Hotel เพราะเห็นถึงประโยชน์โดยเฉพาะเรื่องการประหยัดพลังงาน และธุรกิจที่ยั่งยืน ที่จะส่งต่อให้กับรุ่นลูกหลานต่อไป  ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวและลูกค้าเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ประทับใจและกลับมาใช้บริการซ้ำตลอด อย่างเช่นมีลูกค้าชาวต่างชาติกรุ๊ปหนึ่ง อยู่ 14 วัน ขอใช้พัดลมทุกห้อง ทั้งที่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ก็ไม่ใช้เลย โดยให้เหตุผลว่า ที่เมืองของเขาก็ไม่ได้มีเครื่องปรับอากาศ เพียงแค่พัดลมก็เพียงพอแล้ว  นอกจากนี้ ในโรงแรมยังดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นมีตะกร้า ให้นักท่องเที่ยวและลูกค้า สำหรับไปเดินซื้อของที่ตลาด ใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกในถังขยะภายในห้องพัก   และมีถังขยะส่วนกลาง สำหรับขยะเปียกหรือขยะทั่วไป ทั้งนี้เพื่อที่จะลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งบางครั้งต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าเป็นแนวทางเรื่องการมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ในบางมุมลูกค้าเพิ่งทราบหรือรู้จักเรื่องนี้จากโรงแรมของเราด้วย ถือว่าเราได้มีส่วนในการส่งเสริมและรณรงค์ส่งต่อให้กับผู้ใช้บริการ 

เรื่องการปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจภาคการท่องเที่ยว หากปรับให้สอดคล้องกับรางวัล Green Destinations top 100  ซึ่งจังหวัดน่าน ได้ถึง 3 ครั้ง  จะทำให้จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นเมืองรอง  ได้มีภาพลักษณ์และจุดขายที่แข็งแกร่ง   เป็นภาพจำของนักท่องเที่ยวว่า เป็นเมืองที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกันทั้งเมือง ทุกหน่วยงาน ชุมชน ขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและด้านอื่นๆของจังหวัดน่านด้วย

ความสำเร็จในระดับนานาชาติเหล่านี้ เป็นผลจากการพัฒนาท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของชุมชน การบูรณาการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอย่างเข้มแข็ง และรางวัลที่ได้รับ ถือเป็นเครื่องมือผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว  และยังมีความท้าทายอีกหลายด้าน  ที่จะต้องร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการรักษาเอกลักษณ์ของเมืองไว้ได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน