ตร.เร่งสืบขบวนการ “แบงค์พันปลอม” หลังระบาดหนัก พร้อมแนะนำวิธีสังเกตเบื้องต้น 

ตร.เร่งสืบขบวนการ “แบงค์พันปลอม”

ตร.เร่งสืบขบวนการ “แบงค์พันปลอม” หลังระบาดหนัก พร้อมแนะนำวิธีสังเกตเบื้องต้น 





ad1

วันนี้ (3 พ.ค. 65) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีพบธนบัตรชนิด 1,000 บาท ปลอม ระบาดหนักในหมู่บ้านย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี โดยภายในวันเดียว มีพ่อค้าแม่ค้าถูกหลอกเกือบ 30 ใบ ว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งการไปยังสถานีตำรวจทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากพบว่ามีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ขอให้ผู้บังคับบัญชาลงไปกำชับให้เร่งรัดสืบสวนขยายผลเอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งขบวนการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน 

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะประสานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยอีกช่องหนึ่ง เพื่อแนะนำให้ประชาชนได้ระมัดระวังในการเฝ้าระวัง ไม่ตกเป็นเหยื่อจากการใช้ธนบัตรปลอมที่กำลังเริ่มระบาดอยู่ในพื้นที่ต่างๆ 

สำหรับวิธีสังเกตเบื้องต้น กรณีธนบัตรใบละ 1,000 บาท ปลอมหรือไม่ ให้ดูที่แถบสีในเนื้อกระดาษ ดังนี้ 
1.เป็นพลาสติกสีทองที่ฝังไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้งของธนบัตร จึงเรียกว่า "แถบสีทอง"
2.ในมุมปกติจะมองเห็นเป็นเส้นประแต่เมื่อส่องกับแสงจะเห็นเป็นเส้นตรงและมีข้อความ "1000 บาท 1000มBAHT"
3.เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว และลวดลายในแถบจะกลิ้งเคลื่อนไหวไปมาได้
4.แถบสีอาจมีรอยขูดขีด หลุดลอกชำรุดจากการใช้งานได้
5.แถบสีที่อยู่ในเนื้อกระดาษธนบัตรแต่ละฉบับสามารถอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกันได้ โดยอาจเลื่อนไปทางซ้ายหรือขวา ตามระยะที่มาตรฐานกำหนดไว้

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ระบุไว้ว่า “ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้นๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 40,000 บาท”

ส่วนการใช้เงินปลอมซื้อของ พล.ต.ต.ยิ่งยศ  ระบุว่า มีโทษสูงสุดติดคุก 15 ปี ซึ่งการใช้ธนบัตรปลอมซื้อสินค้าและบริการ เป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญาแบ่งความผิดตามเจตนาของผู้ใช้ออกเป็น 2 ประเด็น คือ ได้ธนบัตรปลอมมาโดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม แต่เมื่อรู้ว่าเป็นของปลอมแล้ว ยังนำออกไปซื้อสินค้าและบริการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และกรณีมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อใช้ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 30,000 บาท