ศบค.เผยไทยติด ‘โอไมครอน’ เพิ่ม 2,338 ราย หรือ 20.92% กระจายไป 55 จังหวัดทั่วประเทศ

ไทยติดโอไมครอนเพิ่ม 2,338 ราย 55 จว.

ศบค.เผยไทยติด ‘โอไมครอน’ เพิ่ม 2,338 ราย หรือ 20.92% กระจายไป 55 จังหวัดทั่วประเทศ





ad1

วันที่ 5 ม.ค. 2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ข้อมูล วันที่ 1 พ.ย. 2564 - 4 ม.ค. 2565 ไทยติดเชื้อโควิด-19 โอไมครอน 2,338 ราย เพิ่มขึ้น 20.92% ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อจากกลุ่มแรก ขณะที่ผลการตรวจสายพันธุ์พบเดลตาพบ 78.91% ไทยพบเชื้อโอไมครอนกระจายไปแล้ว 55 จังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน 676 ราย, กาฬสินธุ์ 233 ราย, ชลบุรี 204 ราย, ร้อยเอ็ด 180 ราย, ภูเก็ต 175 ราย, สมุทรปราการ 117 ราย และมหาสารคาม 103 ราย  สำหรับชลบุรีมียอดผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงเป็นอันดับ 1 แซงกรุงเทพฯ ต่อเป็นวันที่ 3 แล้ว ขณะที่ กทม. ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสมุทรปราการ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังสนามบินสุวรรณภูมิ

พญ.สุมนี กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงหลักที่น่าเป็นห่วงคือผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน  กลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ต้องขอความร่วมมือให้จังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงได้น้อย ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ยะลา นครนายก ขอนแก่น ตาก ลพบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เตรียมระบบการรักษาให้พร้อม ขอให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมในการรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้น ซ้อมระบบการรักษาที่บ้าน การรักษาในชุมชน ให้ท้องถิ่นประสานงานกับสาธารณสุข

ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าวว่า หลังเทศกาลปีใหม่ได้มีการประเมินสถานการณ์มาตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.เป็นต้นมา เพื่อสรุปในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันศุกร์นี้ ในหลายเรื่องที่น่าสนใจ คือ

1. มาตรการปรับสีพื้นที่ตามสถานการณ์ การจำกัดจำนวนคน การรวมกลุ่มกิจกรรม และ การดื่มสุราในร้านอาหาร 

2. การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค จากเดิมที่มีแนวโน้มว่าจะมีการพิจารณาว่าจะเปิดสถานบันเทิง เมื่อมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นคัตเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับ และไม่ได้อยู่ภายใต้การจัดการตามมาตรการป้องกันที่กำหนดก็จะมีการพิจารณาในวันที่ 7 ม.ค.นี้เช่นกัน 

3. มาตรการเพิ่มเติมจัดการกับเชื้อโอไมครอนที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว 

เมื่อถามว่า โอไมครอน ไม่รุนแรงเป็นไปได้หรือไม่ถ้าปล่อยให้ติดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันตัวเอง 

พญ.สุมณี ชี้แจงว่า การฉีดวัคซีนจะป้องกันได้ดีกว่าการปล่อยให้ติดเชื้อตามธรรมชาติ เนื่องจากโอไมครอนแพร่ระบาดเร็ว อาจทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน และยังมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนจำนวนมากทำให้มีความเสี่ยงกว่า นอกจากนี้ยังต้องดูเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวด้วยว่าจะเป็นอันตรายต่อระบบการหายใจหรือไม่