โรงเรียนสาธิต มธ. ออกแถลงการณ์ ชี้แจงประเด็นหลักสูตรการสอน หลังนายกฯ ให้สัมภาษณ์และสั่งหน่วยงานตรวจสอบ ยืนยันพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย

โรงเรียนสาธิต มธ. ออกแถลงการณ์

โรงเรียนสาธิต มธ. ออกแถลงการณ์ ชี้แจงประเด็นหลักสูตรการสอน หลังนายกฯ ให้สัมภาษณ์และสั่งหน่วยงานตรวจสอบ ยืนยันพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย





ad1

โรงเรียนสาธิต มธ. ออกแถลงการณ์ ชี้แจงประเด็นหลักสูตรการสอน หลังนายกฯ ให้สัมภาษณ์และสั่งหน่วยงานตรวจสอบ ยืนยันพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย เคารพความหลากหลายทางความคิด บ่มเพาะเยาวชนให้มีจิตสำนึกเป็นพลเมืองเข้มแข็ง 

วันที่ 6 ก.พ. 2565 จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า มีข้อห่วงใยหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการบิดประวัติศาสตร์และสถาบันฯ 

โดยนายกรัฐมนตรี ตอบว่า กำลังให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปดูอยู่ นี่คือเรื่องการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญการศึกษาจะต้องมีเป้าหมายที่ดี ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ มีความคิดอย่างเป็นระบบ มีมาย์เซ็ทที่ดี สิ่งเหล่านี้ตนกำลังแก้ โดยได้มีการสั่งการ กำหนดนโยบายไปยังรัฐมนตรรีว่าการกระะทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด ทั้งหลักสูตร การศึกษา การสอนของครู การเพิ่มสมรรถนะ ทั้งหมดมีอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องปรับกลไกบางตัวให้ทันสมัยขึ้น และองคาพยพเหล่านั้นต้องทำตามนี้ พัฒนาตนเอง

"ถือโอกาสนี้ขอบคุณบรรดาครู อาจารย์ ในช่วงโควิด-19 ได้รับรายงานจากหลายพื้นที่ หลายจังหวัด ที่มีครูไปสอนในพื้นที่ถึงบ้าน ถือเป็นการเสียสละ เอารถไปเอง ติดตามการบ้าน นี่คือคนที่เราต้องไม่ลืมเขา การเรียนมี 2 อย่าง ออนไลน์ออนไซด์ บางคนออนไลน์ไม่พร้อม รัฐบาลก็ต้องไปเติม ต้องขอบคุณครูเหล่านี้ เหมือนเป็นแนวหน้าหน้าด่านด้านการศึกษา ไม่เช่นนั้นโรงเรียนปิดหมด แล้วจะไปกันอย่างไร เมื่อปิดก็ปิด พร้อมเปิดก็ต้องเปิด ถ้ายังเปิดไม่ได้ก็ต้องมีวิธีการสอนใหม่ ผมรู้ว่าครูเหน็ดเหนื่อย ทั้งที่ตัวเองก็มีภาระส่วนตัวมากมาย แต่ต้องขอบคุณจริงๆ แม้ผมจะไม่ได้พูดถึง ยืนยันว่าทั้งหมดอยู่ในกระบวนการ" นายกฯกล่าว

ล่าสุด โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่แถลงการณ์ต่อสาธารณชน มีเนื้อหาโดยสรุป ชี้แจงประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญกับการเคารพความหลากหลายทางความคิดและมุมมอง โดยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาอาชีพ เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้เยาวชนเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่พร้อมใช้วิจารณญาณในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน

2. โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนฐานความรู้ที่ทันสมัย เหมาะสมกับพัฒนาการ นอกจากสาระวิชาหลัก ยังจัดให้มีการสอนในวิชาต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ วิชาอยู่รอดปลอดภัย วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด วิชาวัยรุ่นศาสตร์ วิชารู้ทันการเงิน วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมเนื้อหาทุกศาสนา) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง 

3. โรงเรียนมีเป้าหมายบ่มเพาะเยาวชนให้มีจิตสำนึกเป็นพลเมืองเข้มแข็ง เป็นพลเมืองโลกที่ยึดโยงกับบริบทสังคมไทย รู้จักคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการกำกับตัวเอง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และสามารถทำงานเป็นทีมผ่านกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน 

โรงเรียนตระหนักดีว่า การบุกเบิก สร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องต้องอาศัยระยะเวลา มีข้อจำกัดมากมายในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ โรงเรียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจตนารมณ์ในการสร้างและพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน จะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศและได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนให้สามารถขยายผลได้ต่อไป

ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ Prinya Thaewanarumitkul ระบุว่า ปัญหาหลักของการศึกษาของประเทศไทยคือ #การเอาแต่สอนให้ท่องจำและทำตามอาจารย์สั่ง โดยไม่ต้องใช้ความคิดอะไรมาก การศึกษาแบบนี้เป็น #การศึกษาแบบอำนาจนิยม ซึ่งนอกจากจะไม่อาจทำให้ประเทศไทยเกิดกำลังทางความคิด และสติปัญญา ไม่อาจพาประเทศไทยไปไหนได้ แล้วก็ยังเป็นการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยเลย

เพราะเป็นการศึกษาแบบสอนให้คนเชื่อฟังผู้มีอำนาจ แม้ว่าอำนาจนั้นจะได้มาโดยมิชอบ การปฏิวัติรัฐประหารถึงยังไม่หมดไป และประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนหลักการความเสมอภาคเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพที่รับผิดชอบต่อส่วนรวม จึงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเสียที

โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อ "สาธิต" การศึกษาแบบให้นักเรียน "คิด" และมีวินัยแบบ "รับผิดชอบ" ทั้งต่อคนเอง ต่อคนอื่น และต่อส่วนรวม เป็นการศึกษาเพื่อสร้างสติปัญญา ไม่ได้สอนให้ทำตามสั่ง จึงย่อม #แตกต่างไปจากการศึกษาแบบที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยได้รับการศึกษามา เราจึงพอเข้าใจได้ว่าทำไมท่านนายกรัฐมนตรีจึงไม่เข้าใจ