คมเฉือนคม ในศึกธรรมนัส-พปชร.

คมเฉือนคม ในศึกธรรมนัส-พปชร.

คมเฉือนคม ในศึกธรรมนัส-พปชร.





ad1

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คต่อกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมประชุมเพื่อรับรองมติคณะกรรมการบริหารพรรค ขับ 21 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กลุ่มของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ให้พ้นจากสมาชิกพรรค  โดยได้โพสข้อคิดเห็นดังนี้ว่า

คมเฉือนคมใน ศึกธรรมนัส

1) พปชร. มีมติขับ 21 ส.ส. เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 โดยทั้งหมดต้องหาพรรคใหม่ใน 30 วัน คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 มิฉะนั้นจะสิ้นสภาพ ส.ส.
2) หัวหน้าพรรค พปชร. มีหนังสือแจ้งมติพรรค ลงวันที่ 21 มกราคม 2565 ถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง
3) วันที่ 21 มกราคม 2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นคำร้องต่อ กกต. ประเด็นการลงมติพรรคขับ 21 ส.ส. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4) วันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ประชุม กกต.มีมติรับทราบเรื่องที่พรรค พปชร. แจ้งมา และขอเวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของมติพรรค
5) วันที่ 31 มกราคม 2565 เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือสอบถาม กกต. ถึง สถานภาพการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 18 ราย
6) ประมาณ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นายสมัย รามัญอุดม พร้อมสมาชิกพรรคพลังประชารัฐกว่า 100 คน ยื่นคำร้อง ตามมาตรา 42 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่า มติของพรรคขัด พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือ กม.อื่น เพื่อให้ กกต.มีคำสั่งเพิกถอนมติการขับ ส.ส. 21 ราย
7) วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงาน กกต. มีหนังสือเลขที่ ลต(ทบพ.)0015/1546 ตอบเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับสถานะการเป็นสมาชิกพรรคของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 18 ราย สรุปว่า ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2565
8)วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงาน กกต. แจ้งว่าที่ประชุม กกต. กำหนดให้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จึงจะพิจารณาหนังสือแจ้งมติพรรค (21 มกราคม 2565) ควบไปกับคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา และ นายสมัย รามัญอุดม
9) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ครบกำหนด 30 วันที่ พรรคพลังประชารัฐ มีมติขับ 21 ส.ส. ที่ต้องหาพรรคใหม่ มิฉะนั้นจะพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(9)
ความตื่นเต้นพีคสุด คือ หากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 กกต.ชี้ว่า มติออกจากพรรคเป็นมติที่ไม่ชอบ อะไรจะเกิดขึ้นตามมา 
1. การวินิจฉัยของ กกต.ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ออกได้ 2 ทาง คือ ทางแรก มติของพรรคที่ให้ ส.ส. ทั้ง 21 คนออกจากพรรค เป็นมติที่ชอบด้วยกฏหมายแล้วในกรณีนี้ไม่เป็นปัญหา โดย ส.ส. ทั้ง 21 คนต้องหาพรรคใหม่สังกัดใน 30 วันและ 18 คนที่สมัครเข้าพรรคเศรษฐกิจไทยตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 มีผลทำให้ชื่อไปอยู่พรรคใหม่โดยสมบูรณ์
2. ทางที่สองในกรณีที่ กกต. มีวินิจฉัยว่าการลงมติไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 42 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง หากพบว่ามติของพรรคขัดต่อกฎหมาย ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนมติดังกล่าวได้ โดยการเพิกถอนมติ หมายถึง มติดังกล่าวไม่มีผลบังคับ นั่นหมายความถึง 21 คนยังมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอยู่
3. ความยุ่งยากอยู่ที่ 18 คนได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยแล้วเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ตามหนังสือตอบของ กกต. ที่มีต่อการสอบถามจากเลขาธิการสภาผู้แทน ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ส.ส.18 คนดังกล่าวจึงอาจมีสถานะการเป็นสมาชิกพร้อมกันสองพรรคในวันที่ กกต. วินิจฉัย (14 กุมภาพันธ์ 2565)
4. มาตรา 26 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดว่า หากนายทะเบียน (เลขาธิการ กกต.) พบว่ามีการซ้ำซ้อนของสมาชิกพรรคการเมือง ให้แจ้งกลับหัวหน้าพรรคให้ลบชื่อผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยเป็นการแจ้งเมื่อพบ ซึ่งหมายความว่า ต้องแจ้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 หาก 18 คนนั้นมีสถานะเป็นสมาขิกพรรคเศรษฐกิจไทยด้วย
5. การลบชื่อสมาชิกที่ซ้ำซ้อน ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. มิใช่การลงมติขับที่เปิดโอกาสให้หาพรรคใหม่ใน 30 วัน แปลว่า 18 คน อาจหลุดจาก ส.ส. โดยไม่เข้าเงื่อนไขถูกขับตามมาตรา 101(9) ของรัฐธรรมนูญ เป็นหลุดจากการเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนสองพรรค
6. เกมการให้พรรคขับนั้นคมยิ่ง แต่เกมที่ให้คนร้องว่ามติไม่ชอบก็คมไม่แพ้กัน คนวางหมาก แก้หมากแต่ละฝ่ายล้วนไม่ธรรมดา เป็นคมที่เฉือนคม จึงต้องรอดูว่า การวินิจฉัยของ กกต. ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จะเป็นอย่างไรและทางแก้ของแต่ละฝ่ายจะเป็นเช่นไร
7. ศึกธรรมนัสยังไม่จบ จึงอย่าเพิ่งนับศพใคร เพราะศพที่ระเนระนาด อาจเป็นศพที่เรี่ยราดของฝ่ายตัวเองได้