ซัดกันนัว!! "พิเชษฐ์" ส.ส.เพื่อไทย ขอดูหลักฐานมติตัด ม.3 ทั้งมาตรา "ศุภชัย" ภ.ท. รับแค่หารือยังไม่มีมติ สุดท้ายยอมถอยกลับไปลงมติตัดม.3 ทั้งมาตรา

ถกสภาวุ่น พ.ท.-ปชป.ซัดศุภชัย ภ.ท.เละ

ซัดกันนัว!! "พิเชษฐ์" ส.ส.เพื่อไทย ขอดูหลักฐานมติตัด ม.3 ทั้งมาตรา "ศุภชัย" ภ.ท. รับแค่หารือยังไม่มีมติ  สุดท้ายยอมถอยกลับไปลงมติตัดม.3 ทั้งมาตรา





ad1

14 ธ.ค. 2565  ที่รัฐสภา  เวลา 10.50 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นประธานการประชุม โดยนายชวนได้แจ้งต่อที่ประชุมกรณีน.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ และนายเดชทวี ศรีวิชัย ส.ส.จังหวัดลำปาง พรรคเสรีรวมไทยยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 471 คน และองค์ประชุมกึ่งหนึ่งต้องมีจำนวน 236 คนขึ้นไป

จากนั้นสภาเริ่มพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธาน กมธ. ชี้แจงตอนหนึ่งว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ทาง กมธ.เพิ่มจากฉบับเดิม ที่มี 45 มาตรา เป็น 95 มาตรา หรือเพิ่มขึ้น 50 มาตรา แต่ยืนยันว่าทั้งหมดเป็นกระบวนการอย่างรอบคอบ กมธ.ทุ่มเทและเสียสละอย่างยิ่ง และไม่ใช่ผลงานของพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นผลงานจากตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ และรัฐบาล ร่างกฎหมายนี้ จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาโรค และการคุ้มครองคนเปราะบาง ทั้งเด็กและเยาวชนหลากหลายมิติ เรารับทราบถึงข้อห่วงใย แต่หลายเรื่องคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยทาง กมธ.ได้พิจารณางานวิจัยว่าพบกัญชามีฤทธิ์เสพติดระดับเดียวกับกาแฟ และติดยากกว่าแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ เราควรสนับสนุนการนำประโยชน์ต่างๆ ของกัญชา และกัญชง มาใช้ทางการแพทย์ และเปิดให้เกษตรกรได้ปลูกภายใต้การควบคุม เพื่อสร้างรายได้ จึงอยากให้ที่ประชุมได้อภิปรายแสดงความเห็น หรือแก้ไขมาตราต่างๆ อย่างเต็มที่ และโหวตผ่านกฎหมายฉบับนี้ เพื่อนำไปใช้ควบคุมการใช้กัญชา กัญชงของประชาชนต่อไป

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก อีกทั้งสภาฯ พิจารณาผ่านวาระรับหลักการ ไปแล้ว แต่เชื่อว่าสภาฯ รับหลักการอย่างมีเงื่อนไข ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์และอีกหลายพรรคการเมืองแสดงเจตจำนงไว้แล้วว่าต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์เท่านั้น

“แม้ก่อนหน้านี้จะนำกลับไปทบทวนใหม่ ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวกฎหมาย โดยเฉพาะในคำปรารภที่กรรมาธิการแก้ไข แต่ยังไม่มีความรอบคอบ เพราะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ไม่เป็นกฎหมายของรัฐบาล แต่เป็นกฎหมายของสมาชิกที่เสนอเข้าสู่สภาฯ เพราะอาจจะเร่งรีบในบางประการ ดังนั้น การเพิ่มเติมข้อความในคำปรารภยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร อาทิ การที่กฎหมายย้ำถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชน แต่ยังไม่ระบุว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นเพื่ออุตสาหกรรมทางการแพทย์เท่านั้น” นายสาทิตย์ กล่าว

น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า. จากการลงพื้นที่ที่ดูแลอยู่ทั้งอ.คลองท่อม อ.ลำทับและอ.เกาะลันตา จ.กระบี่ มีประชาชนที่นับถือทั้งศาสนาพุทธและมุสลิมกว่า 30 แห่ง ทั้งมัสยิด โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านอาหาร ทุกคนมีปัญหาอยู่ 2 ประการ ความกังวลทางด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อชีวิตตัวเองและความกังวลต่อสิ่งเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งเสพติดที่มีผลต่อเยาวชน สตรีมีครรภ์ และผู้เปราะบาง

น.ส.พิมพ์รพี กล่าวต่อว่า ไม่เห็นด้วยที่ตัดคำว่าบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี และกลุ่มบุคคลเสี่ยงอื่นออกไป ซึ่งอาจจะให้ความหมายได้ว่าเป็นการครอบคลุมถึงทุกคนแต่ประชาชนทุกคนไม่ได้เกิดมาเท่าเทียมกัน จึงอาจจะต้องเพิ่มเติมคำ เช่น เยาวชน เพื่อให้เยาวชนได้รับการปกป้องจากกัญชา ต้องยอมรับในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลว่าเราปลดล็อกกัญชา ทุกคนจึงต้องรับผิดชอบความผิดร่วมกันว่าการปลดล็อกกัญชาก่อนจะมีพ.ร.บ.ทำให้เกิดสุญญากาศและเกิดปัญหาตามมา

“ยืนยันว่ากัญชาสำหรับดิฉันคือยาเสพติด ขอขีดเส้นใต้ว่า ประชาธิปัตย์ยืนยันว่าเรา สนับสนุน สนับสนุน และสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์และเศรษฐกิจการแพทย์ เราไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อการเสรี ร่างใด ๆ ที่ทำให้เกิดความเสรีนี้ต้องลบออกและแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยืนยันจะปกป้องสตรีและเยาวชน” น.ส.พิมพ์รพี กล่าว

ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ท้วงติงเกี่ยวกับหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวว่าสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ โดยปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะความเป็นจริงแล้วกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกประกาศปลดล็อก ทำให้สภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้พิจารณา เพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาอย่างจริงจัง แต่ท้ายที่สุดกรรมาธิการกลับปรับปรุงให้กัญชาสามารถใช้ในทางสันทนาการได้ ซึ่งไม่เห็นด้วยและต้องปรับปรุงไม่ให้ใช้ในทางสันทนาการ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา เป็นกฎหมายที่ตนรู้สึกว่าจะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และประชาชน กฎหมายฉบับนี้มีการแอบอ้างชวนเชื่อว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ

“ปีหน้าถ้าผมเป็นรัฐบาล พวกผมจะเอากัญชาให้กลับไปเป็นยาเสพติดแน่นอนจะต้องแก้ไขคำปรารภนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวมีการออกมาในลักษณะที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน แต่เปิดโอกาสให้มีการผลิตขายนำเข้าส่งออก หรือมีไว้ครอบครองเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมกัญชาเป็นยาเสพติดอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ” นายพิเชษฐ์กล่าว

นายพิเชษฐ์กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าว กมธ.ต้องตอบให้ชัดว่ามันคุ้มค่ากันหรือไม่กับผลเสียหายที่จะเกิดต่อประชาชนและประเทศชาติ และจะส่งออกไปประเทศไหน คาดว่าประเทศที่จะมีการส่งออกกัญชา 199 ประเทศ โดยมี 4 ประเทศที่ให้เป็นกัญชาเสรี ประเทศไหนจะนำเข้าเป็นอันดับ 1 2 3 4 ที่ผ่านมาหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการคัดค้านการใช้กัญชาเสรี นี่หรือความถูกต้องระดับสากล จึงขอให้ กมธ.ชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจน ขณะเดียวกันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องยาเสพติด กลับไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในเมื่อสหประชาชาติยังไม่ถูกให้กัญชาเป็นยาเสพติดของโลก การที่ ป.ป.ส.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นนี้จะตอบสังคมโลกได้อย่างไร คนเชียงรายไม่ต้องการกัญชาถ้าอยากจะให้คนเชียงรายเลือกกัญชาก็เลือกพรรคกัญชา ส่วน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แสดงความเป็นห่วงต่อการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ยังคงยืนยันจุดยืนเดิม

ภายหลังสมาชิกอภิปรายจนถึงมาตรา 3 ที่ระบุว่า กัญชา กัญชง ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ต่อมา นายศุภชัย แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตนขออนุญาตที่ประชุมตัดมาตรา 3 ออกทั้งมาตรา ตามที่ กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอมา เรื่องที่ให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด เพราะสมาชิกมีความห่วงใย ดังนั้น จึงเพื่อให้กฎหมายเดินหน้าต่อไปโดยดี เรายินดีที่จะขอให้เราตัดมาตรา 3 ทั้งมาตรา

ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ขอให้ทำกระบวนการให้ถูกต้อง และขอให้พักการประชุมเพื่อให้ กมธ. กลับไปหารือกัน และทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรค ปชป. กล่าวว่า มาตรา 3 เป็นหัวใจสำคัญ ว่ากัญชาเป็นยาเสพติดหรือไม่ การเสนอให้ตัดออกทั้งมาตรานั้นตนไม่ทราบว่ามีเหตุผลอะไร และเมื่อตัดมาตรานี้ออกแล้วผลจะเป็นอย่างไร แล้วต่อไป กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ป.ป.ส. จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด 5 อีกหรือไม่

ขณะที่นายศุภชัย ยืนยันว่ากรรมาธิการได้ประชุมหารือเกี่ยวกับประด็นดังกล่าวแล้วว่าจะตัดมาตรา 3 ออก จึงไม่จำเป็นต้องพักการประชุม เพราะจะทำให้เสียเวลาการพิจารณากฎหมาย เนื่องจากขณะนี้ พิจารณาได้เพียง 3 มาตราจากทั้งหมด 95 มาตรา 

ทำให้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กมธ.ไม่ได้มีมติให้ตัดมาตรา 3 ทิ้งทั้งมาตรา เป็นเพียงการพูดคุยกันเฉยๆ ใน กมธ. แต่ไม่มีมติออกมา จึงอยากขอดูมติดังกล่าวว่า มีอยู่จริงหรือไม่

ในที่สุด เวลา 14.51 น. นายศุภชัย ยอมรับว่า การเสนอให้ตัดมาตรา 3 ออกมามาตรา เป็นเพียงการหารือใน กมธ. ยังไม่ใช่มติ ดังนั้น ขอพักการประชุมประมาณ 20 นาที เพื่อขอนำเรื่องการขอตัดมาตรา 3 ออกทั้งมาตราไปทำให้ถูกตั้ง

ทั้งนี้ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมเห็นพ้องตามที่ประธานกรรมาธิการเสนอ ทำให้นายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นประท้วงการทำหน้าที่ประธานของนายศุภชัย โดยมองว่าประธานทำหน้าที่ลำเอียง เนื่องจากเป็นพรรคเดียวกัน

ในที่สุดกรรมาธิการต้องยอมถอย เสนอให้ประธานที่ประชุมสั่งพักการประชุม เพื่อให้กรรมาธิการกลับไปดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ โดยลงมติตัดมาตรา 3 ในชั้นกรรมาธิการให้แล้วเสร็จก่อน ประธานที่ประชุมจึงสั่งพักการประชุม 15 นาที

จากนั้น เวลา 15.13 น.ที่ประชุมสภาได้กลับมาประชุมอีกครั้งหลัง กมธ.ไปหารือกัน โดยนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ผลการหารือของ กมธ.ให้มีการตัดมาตรา 3 ออกทั้งมาตรา