ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกคำร้องยุบ บขส.1-บขส.3

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกคำร้องยุบ บขส.1-บขส.3





ad1

ขอนแก่น-ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกคำร้องหลังจากชาวขอนแก่นยื่นคัดค้านการยุบรวม บขส.1 และ บขส.3 หลังคดีความยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี ขณะที่ชาวบ้านระบุศาลตัดสินตามระเบียบและข้อกฎหมายมากกว่าที่จะฟังเสียงประชาชนและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 12 ม.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลปกครอง จ.ขอนแก่น ได้มีการนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ชาวขอนแก่นได้ยื่นเรื่องคัดค้านคำสั่งการย้าย สถานีขนส่งแห่งที่ 1 ไปรวมกับสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ในคดีหมายเลขดําที่ อร. 265-267/2560  หมายเลขแดงที่ อร.205-207/2564 ระหว่าง นางสายเงิน กัลยา   กับพวกรวม 157 คน ในฐานะผู้ฟ้อง กับ  อธิบดีกรมการขนส่งทางบก  ผู้ถูกฟ้องที่  1 กับพวกรวม 4 คน โดยเมื่อถึงเวลานัดหมาย ฝ่ายผู้ร้องได้เดินทางมาพร้อมกับทนายความ ขณะที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ได้มอบหมายให้ทนายความเข้าร่วมรับฟัง ท่ามกลางมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยจำกัดจำนวนผู้เข้ารับฟังการอ่านคำพิพากษาภายในห้องพิจารณาคดีในจำนวนที่จำกัด พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบคอนเฟอเร้นท์ มายังพื้นที่ด้านนอกที่จัดเตรียมไว้ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งฝ่ายปกครอง คอยสังเกตุการณ์และรักษาความสงบอยู่โดยรอบบริเวณศาลเนื่องจากมีผู้มาร่วมรับฟังคดีความดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

โดยองค์คณะตุลาการศาลปกครองขอนแก่นได้ใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดนานกว่า 1 ชม.จึงแล้วเสร็จก่อนจะมีการเผยแพร่คำพิพากษาให้กับสื่อมวลชนและประชาชนที่มารับฟังคำพิพากษาได้รับทราบ

โดยสรุปว่าผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กําหนดให้รถโดยสารประจําทางเข้าใช้สถานีขนส่ง ผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น แห่งที่ 3 เพียงแห่งเดียว ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อนมีประกาศดังกล่าว และศาล ปกครองขอนแก่นได้มีคําพิพากษาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2570 โดยเห็นว่า การออกประกาศดังกล่าว กฎหมายไม่ได้กําหนดให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการกําหนดให้ใช้สถานีขนส่งฯแห่งที่ 3 เพียงแห่งเดียว เนื่องจากต้องการแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดในเขตเมือง และยังเป็นไปเพื่อรองรับการเจริญเติบโต ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้มีการกําหนดแผนรองรับไว้ในหลายๆ ด้าน รวมถึงด้านคมนาคม จึงทําให้การเชื่อมต่อ การเดินทางเข้ามาในเขตเมืองมีความสะดวก เมื่อเปรียบเทียบประโยชน์สาธารณะที่เกิดจากการลดปัญหา การจราจรและมลพิษในเขตตัวเมืองกับความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดีแล้ว การกําหนดให้รถโดยสารประจําทาง เข้าใช้สถานีขนส่งฯ แห่งที่ 3 เพียงแห่งเดียวจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่า พิพากษายกฟ้อง

ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาศาลปกครองขอนแก่นต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้ว มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าประกาศกรมขนส่งทางบกเรื่องกําหนดให้รถ โดยสารประจําทาง เข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 3 เพียงแห่งเดียว ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การกําหนดให้รถโดยสารประจําทางเข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารเป็น การจัดระบบรถขนส่งโดยสารประจําทางให้เข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารประกอบกับวัตถุประสงค์ของการมีสถานี ขนส่งผู้โดยสารนั้น เพื่ออํานวยความสะดวด ความปลอดภัยแก่ประชาชนและเป็นเครื่องมือในการควบคุมกํากับ ดูแลจัดระเบียบการขนส่งผู้โดยสารประจําทางด้วยรถโดยสารและผู้ประจํารถเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน โดยรวมเป็นหลัก การออกประกาศกรมการขนส่งทางบกดังกล่าวไม่ใช่การดําเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพการ ดําเนินการดังกล่าวจึงไม่จําต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่กฎหมายกําหนดไว้แต่อย่างไรก็ตาม 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนมีการออกประกาศที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนแล้ว สถานีขนส่งผู้โดยสารถือเป็นศูนย์รวมของการเดินทางด้วยรถโดยสารประจําทางเพื่อให้ ประชาชนได้รับความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง ดังนั้น การกําหนดให้รถโดยสารประจําทางเข้า ใช้สถานีขนส่งฯ แห่งที่ 3 เพียงแห่งเดียว โดยมีรถหมวด 1 เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจุดจอดกับชุมชน ย่อมจะทําให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อรถโดยสารทุกประเภทได้ด้วยความสะดวกและประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายอันเป็นการจัดระบบการเชื่อมต่อการขนส่งทางบก และเพื่อลดปัญหาการจราจรแออัดและปัญหามลพิษในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ทําให้ประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารไม่เกิดความสับสนในการเดินทาง และนอกจากความปลอดภัยในการเดินทางแล้วยังทําให้ภาครัฐสามารถควบคุมกํากับดูแลและจัดระเบียบการขนส่ง ประจําทางด้วยรถโดยสารและผู้ประจํารถได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กําหนดให้รถโดยสารประจําทางเข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสาร จังหวัดขอนก่น แห่งที่ 3 เพียงแห่งเดียว ลงวันที่  21  สิงหาคม 2558  เป็นการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ ตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลปกครอง ชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

ทั้งนี้ทันทีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งดังกล่าวทำให้ประชาชนชาวขอนแก่น ที่มร่วมรับฟังคำพิพากษาดังกล่าว ต่างพากันออกมาบริเวณด้านหน้าศาลและจับกลุ่มพูดคุยกันถึงคำพิพากษาดังกล่าว ในครั้งนี้


นายทวีวัฒน์  อนันต์รักษ์ ผู้รับมอบอำนาจในคดี กล่าวว่า เป็นไปตามกาคาดการณ์ของประชาชนที่ร่วมยื่นเรื่องคัดค้านการย้าย สถานีขนส่งแห่งที่ 1 ไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 3 จากผลการพิจารณาคดีดังกล่าวที่ออกมา ซึ่งขณะนี้คดีถือเป็นที่สิ้นสุดและมองว่าการพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้นเป็นการที่ศาลตัดสินตามระเบียบและข้อกฎหมายมากกว่าการคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน และปล่อยให้ปัญหาของประชาชนนั้นมีมานานกว่า 10 ปี จากนี้ไปเมื่อคำสั่งศาลถือเป็นที่สิ้นสุดแล้วประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็จะหารือกับเทศบาลนครขอนแกน ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2554 ซึ่งคณะกรรมการจัดการขนส่ง จ.ขอนแก่น มีคำสั่งย้าย บขส.1 ไปรวมกับ บขส. 3 ต่อมา ในวันที่ 8 เม.ย.2555 ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ยื่นคัดค้านคำสั่งดังกล่าว วันที่ 20 ส.ค.2558 ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองขอนแก่น 22 ก.ย.2558 ศาลปกครองขอนแก่น มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระหว่างการพิพากษา 24 ส.ค.2560 ศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งยกคำร้อง เดือน พ.ย.2560 ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนยื่นอุทธรณ์ และ 12 ม.ค.2565 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาและมีคำสั่งพิพากษายืนตามศาลปกครองขอนแก่น  รวมการต่อสู้คดี นานกว่า 10 ปี