เมืองปทุมฯจัดแข่งขันเรือพายม้าฟื้นฟูประเพณีวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ (ชมคลิป)

เมืองปทุมฯจัดแข่งขันเรือพายม้าฟื้นฟูประเพณีวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ (ชมคลิป)





ad1

ปทุมธานี- พระครูสมุห์วัชระ ภทฺทธมฺโม(พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม พร้อมด้วยนายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี จัดการแข่งขันเรือพายม้า ชาวบ้าน ชิงเงินรางวัล เนื่องในงานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร 72 ปี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน)

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 21 ม.ค. 2565 ที่บริเวณคลองเปรมประชากร  อ.เมือง จ.ปทุมธานี พระครูสมุห์วัชระ ภทฺทธมฺโม(พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี จัดการแข่งขันเรือพายม้า ชาวบ้าน ชิงเงินรางวัล เนื่องในงานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร 72 ปี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) ณ อนุสรณ์สถานครบรอบ150 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดบางหลวงหัวป่า (ร้าง) สาขาของวัดระฆังโฆสิตาราม ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยมีชาวบ้านแห่มาชมมาเชียร์กันอย่างสนุกสนาน

สำหรับบรรยากาศในงาน มีประชาชนเข้ามาชมและเชียร์กันอย่างคึกคัก แม้ในบางช่วงที่มีฝนตกลงมาแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคแก่กองเชียร์และฝีพายทั้งหลาย รวมทั้งเสียงการพากษ์เรือจากบรรดานักพากษ์ที่มีฝีปากเรียกเสียงเฮฮาเร้าใจได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งยังมีเรือที่เข้าร่วมการแข่งขันบางลำที่ฝีพายกำลังพายจ้ำแข่งคู่กันมาแต่เรือกลับล่ม เรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมและกองเชียร์ 

พระครูสมุห์วัชระ ภทฺทธมฺโม(พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เปิดเผยว่า การแข่งขันเรือ คือกีฬาพื้นบ้านที่สามารถฝ่ากระแสโลกาภิวัตน์ ยืนหยัดได้อย่างสง่างามมาจนถึงปัจจุบัน สีสันและบรรยากาศของการแข่งขัน เป็นแม่เหล็กชั้นดีที่ดึงดูดช่างภาพและผู้ชมนับร้อยนับพันมาร่วมชมและเชียร์กันอย่างเนืองแน่นทุกเพศ ทุกวัย จนมีคำกล่าวว่าเป็นกีฬาที่ เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี พระเถร เณร ชี ดูแล้วไม่อาบัติ เพราะว่าการแข่งเรือเป็นประเพณีที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนา และเรือเป็นสมบัติของวัดและชุมชน 

การแข่งขันเรือจึงเป็นกีฬาพื้นบ้านที่ก่อให้เกิดความสามัคคี ซึ่งถือเป็น “หัวใจสำคัญของการพัฒนาชาติ” นาวาอันนำพาความสนุกสนาน จึงเป็นมรดกวัฒนธรรมแห่งสายนํ้าอันทรงคุณค่า คู่ควรกับการอนุรักษ์ไว้อย่างแท้จริง

ด้าน นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากอดีตถึงปัจจุบัน คนไทยมีความผูกพันกับสายน้ำอย่างแนบแน่น ในด้านการดำรงชีวิต การคมนาคมขนส่ง ทั้งด้านเกษตรกรรมและด้านการค้า จึงก่อให้เกิดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับ “เรือ”

วิถีชีวิตลุ่มน้ำภาคภาคกลาง คนไทยสมัยก่อนนิยมสัญจรกันทางนํ้า โดยมีเรือเป็นพาหนะหลัก เรือพาย จึงมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของคนไทย เมื่อถึงฤดูนํ้าหลาก ว่างเว้นจากการเพาะปลูก ประเพณีแข่งเรือ เป็นการละเล่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยในชนบทถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้น้ำ ในช่วงเดือนสิบเอ็ดและเดือนสิบสอง ชาวบ้านเว้นว่างจากการทำไร่ทำนา เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้พบปะเกี้ยวพาราสีกัน ได้เห็นฝีไม้ลายมือของชายอกสามศอก ได้เห็นความสามัคคีพร้อมเพรียงของเหล่าหนุ่มฝีพาย 

การแข่งเรือมักมีการเล่นเพลงเรือ เพลงปรบไก่ เพลงครึ่งท่อน และสักวาโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวหลังการแข่งเรือ เป็นการใช้ฝีปากไหวพริบและความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน โต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน ได้แสดงความสามารถทั้งหญิงและชาย ผู้ดูมีทั้งอยู่บนตลิ่ง และที่พายเรือกันไปเป็นหมู่ ต่างสนุกสนานกันทั่วหน้า