ทะลวงจุดตันบางสะพานคลี่คลายปมน้ำท่วมซ้ำซาก

ทะลวงจุดตันบางสะพานคลี่คลายปมน้ำท่วมซ้ำซาก





ad1

           พูดถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นอกจาก อ.หัวหิน แล้ว ยังมี อ.บางสะพาน ที่โด่งดัง

            น้ำท่วมทีไร บางสะพานติดโผทุกที เพราะตัวอำเภอเป็นแอ่งกระทะรับน้ำจากภูเขา ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย

            เมืองในสมัยโบราณตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำสายหลัก แต่เมื่อความเจริญขยายตัว ลำน้ำและที่ดินริมฝั่งถูกบุกรุกเปลี่ยนการใช้ประโยชน์  ทำให้ลำน้ำแคบและตื้นเขิน เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำไม่อาจไหลได้ตามสะดวกจนเกิดอาการท่วมขังและอุทกภัยในท้ายที่สุด

            “ที่นี่ท่วมสูงเป็นเมตรสองเมตรเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงพยาบาลบางสะพานและโรงเรียนอนุบาลบางสะพาน เพราะเป็นที่ต่ำ” นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์  รองอธิบดีกรมชลประทาน เล่าถึงสถานการณ์น้ำบางสะพาน

            ลำน้ำหลักจากภูเขา ทั้งจากไทรทอง คลองลอย โป่งสามสิบ และวังน้ำเขียว ไหลมาบรรจบกันที่คลองบางสะพานบริเวณถนนเพชรเกษม ก่อนเข้าสู่ตัวเมือง ซึ่งคลองบางสะพานแคบและคดเคี้ยวมาก ทำให้ระบายได้น้อยและช้า น้ำหลากท่วมตัวอำเภอเป็นประจำแทบทุกปี  หนักหรือเบาเท่านั้น บางปียังต้องย้ายคนไข้ออกจากโรงพยาบาลก็เคย

            กรมชลประทานวางแผนแก้ปัญหาด้วยการขยายอัตรารับน้ำของคลองสะพานเดิมให้ได้ 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และขุดคลองลัดบริเวณใกล้โรงเรียนอนุบาลบางสะพาน เพื่อผลักน้ำลงทะเลอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตรารองรับน้ำ 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  และร่นระยะความยาวของคลองเดิม 3 กิโลเมตร เหลือความยาวคลองลัด 500 กว่าเมตรด้วย

            “ช่วงวันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2564 มีฝนตกหนัก 130 มิลลิเมตร ปริมาณขนาดนี้ปกติก็ต้องท่วมแล้ว แต่พอขุดคลองลัดเสร็จก่อน ก็สามารถระบายผ่านคลองลัดลงทะเลได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้รอดพ้นจากน้ำท่วมได้” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

            ข้อพิสูจน์เชิงประจักษ์นี้ ช่วยทำให้ชาวบางสะพานเห็นความจำเป็นและประโยชน์ของโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย อ.บางสะพาน มากขึ้น ทำให้กรมชลประทานสามารถเดินหน้าโครงการได้ดีขึ้นจากความร่วมมือของคนในชุมชน

            ตามแผนการจะมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำเป็นระยะๆ รวม 9 แห่ง ขณะนี้สร้างเสร็จ 1 แห่ง บริเวณท้ายคลองลัดที่จะออกสู่ทะเล ซึ่งนอกจากเป็นเครื่องมือระบายน้ำแล้ว ยังป้องกันน้ำทะเลหนุน รวมทั้งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งในตัวอำเภอได้ด้วย

            อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวก็ยังไม่พอ เพราะปริมาณน้ำมา 900 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ลำพังคลองบางสะพานกับคลองลัดรับได้รวม 700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ยังเหลือ 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ตามแผนกรมชลประทานจะระบายออกทางคลองแม่รำพึงกับคลองม้าร้อง-ปัตตะมังลงสู่ทะเล แต่ติดขัดการคัดค้านกรณีคลองหาดแม่รำพึง ส่วนคลองม้าร้องฯ อยู่ติดเนินเขา ทำให้ไม่สามารถขยายคลองได้

            เมื่อติดขัดปลายน้ำ กรมชลประทานก็หาทางแก้ไขบริเวณต้นน้ำ โดยวางแผนก่อสร้างเขื่อนไทรทองกับเขื่อนคลองลอยตอนล่าง ความจุ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 17 ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ

            “เขื่อนไทรทองกำลังก่อสร้าง ส่วนเขื่อนคลองลอยฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ ถ้าสร้างเสร็จทั้งสองเขื่อน  คาดหมายว่า ตัวอำเภอบางสะพานน่าจะปลอดภัยจากอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะช่วยเกษตรกรได้ดีขึ้น โดยเฉพาะมีการปลูกและขยายสวนทุเรียนจำนวนมาก น้ำเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เท่ากับตอบโจทย์ได้ ทั้งเกษตรกรด้านบน และประชาชนที่อยู่ในตัวอำเภอด้านล่าง” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

            น้ำท่วมบางสะพานกำลังจะกลายเป็นตำนาน หากแผนการเหล่านี้ดำเนินการได้แล้วเสร็จ