พิษโควิด!กระทบหนักเกษตรกรเลี้ยงไก่เบตง (มีคลิป)

พิษโควิด!กระทบหนักเกษตรกรเลี้ยงไก่เบตง (มีคลิป)





ad1

ยะลา-เกษตรกรเลี้ยงไก่เบตงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการประกอบอาชีพสู่ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเลี้ยง

เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ฟาร์มคีรีเบย์ ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19เกษตรกรฟาร์มคีรีเบย์  ใน อ.เบตง จ.ยะลา ที่ได้ลงทุนลงแรงเลี้ยง “ไก่เบตงพันธุ์แท้” เพื่อสร้างรายได้เสริมจากงานหลัก แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพสู่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเลี้ยงไก่ และจำหน่ายในช่วงโควิด-19  พร้อมรังสรรค์ เมนูไก่สับเบตง เมนูเด็ด ที่หลายคนต้องลิ้มลอง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังเปิดสนามบินและรอการเปิดด่านทางบกในเดือนเมษายน  สู่เมนูอันเป็นอัตลักษณ์ของเมืองใต้สุดแดนสยาม

 “ไก่เบตง” เป็นไก่พันธุ์พื้นเมือง ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตงที่อยู่ใต้สุดแดนสยาม โดยไก่เบตงพันธุ์แท้ต้องมีหงอนสีแดงสด ขนสีเหลืองทอง บั้นท้ายตัด คอ และขาแข็งแรง หากโตเต็มที่บางตัวมีน้ำหนักมากถึง 4-5 กิโลกรัม และเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของเบตง แต่ในปัจจุบัน กลายเป็นสินค้าทางเลือก เนื่องจากมีราคาสูง และต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน โดยหากเปรียบเทียบไก่เนื้อ ซึ่งจะใช้เวลาเลี้ยงเพียงแค่ 5 สัปดาห์ แต่ไก่เบตง ใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 16 สัปดาห์ หรือราว 4 เดือน ขั้นตอนแรกเริ่มจากการฟักไข่ใช้เวลารวม 21 วัน โดยภายในตู้กำหนดให้ควบคุมความชื้นประมาณร้อยละ 65 และจะต้องเอียงไข่ 45 องศา ทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ไข่ติดเปลือก

ปัจจุบัน การเลี้ยงไก่เบตงนั้นไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากด้วยข้อจำกัดของลักษณะพันธุ์ไก่เบตง เช่น ไก่เบตง ต้องการพื้นที่ส่วนตัว หากเกษตรกรมีพื้นที่ไม่กว้างพอ อาจทำให้ไก่ตัวผู้จิกกัดกันเอง  นอกจากนั้น ไก่ตัวผู้ยังมีปีกอ่อน ทำให้ยากต่อการขึ้นผสมพันธุ์ ส่วนไก่ตัวเมียก็จะจิกกินไข่ตัวเอง

และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเบตง โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่เบตงของฟาร์มคีรีเบย์ ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา โดยมีนายอุดม ลักษณะ เจ้าของฟาร์มไก่เบตงคีรีเบย์ ได้มีการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงไก่เบตง ซึ่งเป็นไก่สายพันธุ์เบตงแท้ ให้เกษตรกรที่อยู่ในภายในหมู่บ้าน รวมกลุ่มกระจายกันเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม โดยทางฟาร์มได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงทั้งระบบ รวมทั้งด้านการตลาด เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค การเลี้ยงไก่เบตงของที่นี่ เป็นไก่เบตงสายพันธุ์แท้ ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งจะมีลักษณะเด่น ปีกสั้น หางสั้น หงอนเป็นกงจักร ขนสีเหลืองทองทั้งตัวผู้ตัวเมีย การเลี้ยงจะทำโรงเรือนแบบปิด แยกไก่ออกเป็นรุ่น ให้อาหาร จนกระทั่งไก่โตได้ที่ จนครบระยะเวลาจับจำหน่าย

  นายลำไพ สมพิศ อายุ 63 ปี คนเลี้ยงไก่ในฟาร์ม เปิดเผยว่า การเลี้ยงไก่เบตง แรกๆ ลูกไก่ยังเล็ก จะให้หัวอาหาร พอโตขึ้น หัวอาหารผสมข้าว และหัวอาหารผสมข้าวโพด จนกระทั่ง ได้ระยะเวลา 5-6 เดือน ก็สามารถจับขายได้ น้ำหนักประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม ซึ่งไก่ที่เลี้ยงอยู่ขณะนี้ น้ำหนักประมาณ 1-1.5  กิโลกรัม ไก่เมื่อได้ขนาดและน้ำหนัก เมื่อนำไปประกอบอาหารจะมีรสชาติอร่อย นำไปทำไก่สับ ข้าวมั้นไก่ และอีกหลายๆเมนู  

 นายอุดม ลักษณะ เจ้าของฟาร์มไก่เบตงคีรีเบย์ เปิดเผยว่า เลี้ยงไก่เบตงมา 6 ปีแล้ว ที่นี่เป็นฟาร์มใหญ่ ปัจจุบันที่นี่เป็นศูนย์รวมการเลี้ยงไก่เบตง เป็นแหล่งส่งไก่เบตงทั่วประเทศ ในรูปแบบไก่แช่แข็ง และไก่สด การเลี้ยงของที่นี่ เมื่อก่อนเลี้ยงในปริมาณที่มาก กว่า 10,000 ตัว แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไก่ส่งออกตลาดไม่ได้ ไดรับผลกระทบ ประสบปัญหาขาดทุน จึงได้ปรับแผนการเลี้ยงไก่เบตง กระจายให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เลี้ยงด้วย โดยเมื่อไก่โตได้ขนาด ประมาณ 6 เดือน จับขายแล้วนำมาแช่เข็งเพื่อจำหน่าย ความพิเศษของไก่เบตง เนื้อนุ่ม หนังหนึบกรอบ รสชาติอร่อย  

ราคาขายไก่แช่แข็ง ราคาต่อ กก. 280 บาท ไก่สดราคา 220 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารเมนูไก่สับ ราคาจะอยู่ที่ 500-1,200 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของตัวไก่ ถ้านึกถึงไก่เบตงสายพันธุ์แท้ ต้องมาที่นี่ ฟาร์มไก่คีรีเบย์ ได้รับการรับรองจากกรมปศุสตว์ และเป็นอัตลักษณ์ของอำเภอเบตง การส่งขาย จะมีลูกค้าโทรสั่ง มีรถส่งตลอด เฉพาะร้านค้าต่างๆในตัวเมืองเบตง ตกต่อเดือนประมาณ 2,000 ตัว นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ทางฟาร์มเองได้เลี้ยงไก่ชน ซึ่งถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ เมื่อเปิดประเทศ ทางประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีความต้องการ ราคาสูงกว่าการเลี้ยงไก่เบตง

   ซึ่งในอนาคตหากเปิดประเทศ ด่านชายแดนมาเลเซียเปิด และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ทั้งสนามบิน เดินทางโดยรถยนต์ เฉลี่ย 1 เดือนความต้องการบริโภคไก่เบตงในตัวเมืองเบตงประมาณ 3,000 ตัว ความต้องการด้านแหล่งอาหารในพื้นที่ โดยเฉพาะไก่เบตง คงไม่เพียงอย่างแน่นอนอย่างแน่นอน การเลี้ยงในขณะนี้ ยอมรับว่าไม่กล้าเลี้ยงในปริมาณที่มาก ซึ่งหากเปิดประเทศ ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป เป้าหมายการท่องเที่ยวของอำเภอเบตง ซึ่งขณะนี้มีสนามบิน มีเส้นทางที่เดินทางสะดวก นักท่องเที่ยวมุ่งหวังอยากมาเที่ยวเบตง มาที่นี่ ประชาชนอัธยาศัยดี อาหารการกินอร่อย ท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม หมอกสวย อากาศดี ชาวเบตงยินดีต้อนรับ แล้วท่านจะได้รับความประทับใจ

ด้าน นางสาวณัฐธิดา ลักษณะ เจ้าของร้านชูก้าเรส จำหน่ายเมนูไก่สับเบตง เปิดเผยว่า ทางร้านได้รับไก่จากฟาร์มคีรีเบย์ เพื่อนำมารังสรรค์ เมนูไก่สับเบตง ซึ่งเมนูไก่สับเบตงนั้น ต้องผ่านขั้นตอนการปรุงอาหารอย่างพิถีพิถัน เริ่มจากการนำไก่มาต้มประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นนำมาน็อคน้ำเย็น แล่เนื้อไก่ออกจากกระดูก หั่นเป็นชิ้นพอคำ ปรุงรสด้วยน้ำจิ้มสูตรเด็ดเฉพาะของทางร้าน ไก่เบตงจะเป็นเมนูแรกๆ ที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเบตง จะนิยมสั่งรับประทาน คือเมนูไก่เบตงสับ ความพิเศษของเมนูนี้เป็นไก่ที่เราเลี้ยงเอง มาจากฟาร์มคีรีเบย์ รสชาติของไก่เบตงจะพิเศษกว่าไก่ที่อื่น ไก่และหนังจะแยกออกจากกัน ไม่มีชั้นไขมันแทรก หนังหนึบกรอบ เนื้อนุ่ม รสชาติอร่อย และสูตรน้ำจิ้มราดไก่สับเบตงจากทางร้าน

เจษฎา สิริโยทัย อ.เบตง จ.ยะลา รายงาน