“สบเตี๊ยะโมเดล” ต้นแบบแก้ปัญหาสุราอย่างยั่งยืน

“สบเตี๊ยะโมเดล” ต้นแบบแก้ปัญหาสุราอย่างยั่งยืน





ad1

เปิดผลงานชิ้นโบว์แดงภาคี สสส. ขับเคลื่อนดูแลผู้มีปัญหาสุราประสบความสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม 16 พื้นที่ปฏิบัติการ ขยายผลสู่ “สบเตี๊ยะโมเดล” ปลุกศักยภาพครอบครัวผนึกพลังเครือข่ายสังคมดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะชุมชน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่านิยมแบบผิดๆสู่การลด ละ เลิกสุราอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565  นางสาวรักชนก  จินดาคำ  หัวหน้าโครงการการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เปิดเผยว่า “สมาคมฮักชุมชน” ภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำรูปแบบการดูแลผู้มีปัญหาสุราในรูปแบบ "เชิงพุทธ" มีชุมชนเข้าร่วมดำเนินกิจกรรม 8 พื้นที่ แบ่งเป็นในภาคเหนือ 2 วัด ในภาคอีสาน 6 วัด และรูปแบบ "กลุ่มครอบครัว" มีชุมชนเข้าร่วมดำเนินกิจกรรม 8 พื้นที่ แบ่งเป็นในภาคกลาง 4 พื้นที่และในภาคเหนือ 3 พื้นที่ รวมทั้งหมด 16 พื้นที่ต้นแบบ โดยมีภาคีเครือข่ายในระบบสุขภาพและนอกระบบสุขภาพโดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับชุมชน เนื่องจากชุมชนมีศักยภาพ และชุมชนเป็นฐานสำคัญในการพัฒนา หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม

สำหรับผลลัพธ์จากการทำงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรม  ได้แก่ 1.เกิดกลไกขับเคลื่อนงาน  ใน 16 พื้นที่ มี ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ บุคลากรสุขภาพ จิตอาสา รวมจำนวน 253 คน  2.เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มสุรา จำนวน 181 คน  มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มสุรา โดยสามารถเลิกดื่มสุรา 68 คน หรือ 38% และ ลดการดื่มสุราจำนวน 99 คน หรือ 55% 3.เกิดผลลัพธ์ในมิติคุณภาพชีวิต 4 ด้าน คือ 1.ด้านสัมพันธภาพในครอบครัว มีการทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น มีความเข้าใจกันมากขึ้น สื่อสารในเชิงบวกมากขึ้น 2.ด้านสุขภาพดีขึ้นทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ  3.ด้านทักษะชีวิต เกิดทักษะ การเสริมคุณค่าในตนเอง และการหนุนเสริมกันในระบบกลุ่ม ได้แก่ การทำเกษตรปลอดสารพิษ ปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน การปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำกลุ่มหางานออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด และ 4.ด้านเศรษฐกิจ  ผู้มีปัญหาสุราที่ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม มีเงินเก็บ จากการประกอบอาชีพ จากการลดค่าใช้จ่ายในเกี่ยวกับสุรา มีการตั้งเป้าหมาย ในการมีชีวิตที่ดีขึ้น

“สบเตี๊ยะโมเดล” ปลุกศักยภาพครอบครัวแก้ไขปัญหาสุราสร้างสุขภาวะชุมชน

ทั้งนี้ “เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ” อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีการผนึกกำลังในการขับเคลื่อนงาน  โดยการนำประสบการการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน ที่สมาคมฮักชุมชนได้ดำเนินการ มาขยับขับเคลื่อนงานในตำบลสบเตี๊ยะ ที่มีสมาชิก 21 หมู่บ้าน และนำร่องดำเนินการในครั้งนี้ 8 หมู่บ้าน  เป็นนวัตกรรมสำคัญที่น่าติดตาม นำไปสู่การสร้างทางเลือกที่สำคัญสำหรับชุมชน ในการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา  ในส่วนผู้มีปัญหาสุรา ก็ได้รับโอกาสการเข้าถึงการดูแล ฟื้นฟูสภาพ ที่มีคนในชุมชนที่เป็นเสมือนญาติมิตร เป็นผู้ขับเคลื่อนงาน ผ่านกลไกคณะทำงานขับเคลื่อนงานการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชนตำบลสบเตี๊ยะ  ประกาศโดยเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มีภาคีข่ายร่วมดำเนินงานทั้งภาครัฐ,ภาคเอกชน นำโดย นายกเทศมนตรีตำบลสบเตี๊ยะ  นายสมบัติ ทองแหง นายเสกสรรค์  แสนสี รองนายกเทศมนตรีตำบลสบเตี๊ยะ , โรงพบาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่เตี๊ยะ, โรงพบาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแท่นดอกไม้

โรงพยาบาลจอมทอง และสมาคมฮักชุมชน ภายใต้การสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาของ นายยุทธพงศ์   ไชยศร นายอำเภอจอมทอง  นายสัมพันธ์  ก๋องเงิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจอมทอง  และนายสมเกียรติ  มณีผ่อง สาธารณสุขอำเภอจอมทอง  รวมถึง พระครูพิพิธบุญญาภิรม โภณฑญโญ เจ้าคณะตำบลสบเตี๊ยะ เขต 1 และ พระครูโสภิตปุญโญภาส เจ้าคณะตำบลสบเตี๊ยะ เขต 2  เป็นต้น คณะทำงานชุดดังกล่าวจะมีการทำงานสร้างพลังร่วมกับคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนงานการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชนตำบลสบเตี๊ยะ ที่มีผู้นำชุมชนในพื้นที่นำร่อง 8 หมู่บ้าน เข้าร่วมได้แก่ หมู่ที่ 3 บ้านเชิงดอยหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งหมากหนุ่มหมู่ที่ 7 บ้านดงหาดนาค  หมู่ที่ 8 บ้านห้วยโจ้หมู่ที่ 9 บ้านหนองอาบช้างหมู่ที่10 บ้านทุ่งปูนหมู่ที่14 บ้านแม่เตี๊ยะใต้ และหมู่ที่17 บ้านหาดนาค

นางสาวพิสมัย ธรรมใจ ปลัดเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการทำงาน คือ การนำฐานทุนของการทำงานที่มีความเป็นครอบครัวเดียวกัน สร้างเครือข่ายในเรื่องการดูแลเอื้ออาทรกัน จะทำให้เป็นแรงเสริมให้การขับเคลื่อนเรื่องสุราหรือเรื่องอื่นๆบรรลุผลตามที่ต้องการได้  ดึงศักยภาพความเป็นครอบครัวในชุมชนในการขับเคลื่อนเรื่องสุราร่วมกัน ความเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นจุดแข็ง เป็นศักยภาพที่สำคัญในการจัดการดูแลได้  สอดคล้องกับรูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว ที่สมาคมฮักชุมชนและภาคีเครือข่ายนักวิชาการได้พัฒนาขึ้น เป็นการนำเอา “สถาบันครอบครัว” นำ “สถาบันเครือข่ายสังคม”  ความเป็นคนในหมู่บ้านมาช่วยกันขับเคลื่อน นอกจากคำว่า เครือญาติ คือ คนที่เกิดในพื้นที่ เรายังมีความเข้มแข็งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยบริการสาธารณสุข เครือข่ายของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายของสถานศึกษา ตลอดจน คณะสงฆ์ ที่เป็นเครือข่ายร่วมกันที่จะขับเคลื่อนไปได้ ในชุมชน มีในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ บุคคลที่มีความรู้เฉพาะด้าน ถ้าดึงเป็นเครือข่ายร่วมกันในการขับเคลื่อนงานทั้งในระดับ ตำบล ชุมชน จะทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ดี จะเป็นจุดแข็งในตำบล คนในตำบลสบเตี๊ยะอยากให้คนในครอบครัว ซึ่งหมายถึง คนทั้งตำบลมีความสุข ความเป็นอยู่ที่ดี และทุกคนยินดีที่จะขับเคลื่อนและร่วมช่วยกันทำเรื่องการแก้ไขปัญหาสุรา สร้างสุขภาวะให้กับคนในชุมชนได้ต่อไป


"ศักยภาพของตำบลสบเตี๊ยะ มีความเข้มแข็งในเรื่องของความเป็นครอบครัวเดียวกัน ความเป็นครอบครัวที่เอื้ออาทรต่อกัน หมายความว่า คนหมู่บ้านนี้รู้จัก และมีความเกี่ยวข้องกัน และมีเครือข่ายเป็นญาติกัน เช่น บ้านอยู่หมู่ 1 แต่ญาติอยู่หมู่ 20 จึงเป็นเครือข่ายครอบครัวเดียวกัน ทำให้เกิดความช่วยเหลือดูแลกัน นั่นคือศักยภาพความเป็นชุมชนของทั้งตำบลที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน" นางสาวพิสมัย กล่าว  

ปลัดเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ  กล่าวว่าการนำศักยภาพเครือข่ายครอบครัวเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปกับการรักษาพยาบาลคนป่วยอันเนื่องมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคปอด โรคจิตเวช ปัญหาสุขภาพจิต และข้อมูลเชิงลึกสิ่งที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตส่งผลกระทบกับความอบอุ่นในครอบครัว และส่งผลกระทบกับตัวเองจากภาวะผู้ป่วยที่ฆ่าตัวตาย และมีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดชนิดอื่น ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ 

“ชุมชนมีส่วนร่วม” กุญแจสำคัญแก้ไขปัญหาสุราอย่างยั่งยืน

นางแสงจันทร์ พาภิรมย์ ผู้อำนวยการโรงพบาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่เตี๊ยะ กล่าวว่าสถานการณ์ปัญหาสุราของคนในตำบลสบเตี๊ยะหรือของคนจอมทอง ต้องต่อสู้กับค่านิยมแบบวิถีชีวิตจะใช้เหล้าเป็นตัวนำ จึงทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ที่เริ่มมีการดื่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาสุราของชุมชน  คนที่จะแก้ได้ดีที่สุดและเกิดความยั่งยืนก็ คือ "ชุมชนมีส่วนร่วม"  โดยชุมชนจะสร้างมาตรการในชุมชนขึ้นมาเองและนำไปปฏิบัติจริง ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ความเข้มแข็งในชุมชน ความสามัคคี โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสุราร่วมกัน เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชน และ นอกจากการทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักของปัญหายังให้การสนับสนุนในการสร้างการพัฒนาศักยภาพของคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นมา การทำงานในชุมชนจะต้องมีคณะทำงานในการขับเคลื่อน โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตามคำสั่งและคณะกรรมการปฏิบัติงาน เครือข่ายตรงนี้จะมีส่วนในการ จัดเก็บข้อมูล, การวางแผน, การปฏิบัติและการประเมินผล จากที่ทำงานที่ผ่านมาชุมชนให้การตอบรับ และบอกว่าเป็นโครงการฯ ที่สามารถจับต้องได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดผลกับชุมชน
 

นางแสงจันทร์  กล่าวว่ากระบวนการทำงานเน้นงานแบบชุมชนมีส่วนร่วม ตามแนวทางของสมาคมฮักชุมชน ตั้งแต่การเก็บข้อมูล, การวางแผน, การกำหนดรูปแบบในการทำงาน, การแต่งตั้งคณะกรรมการ สู่การปฏิบัติงาน และสุดท้ายคือการประเมินผลลัพธ์ร่วมกัน ทำให้ชาวบ้านได้เกิดการรับรู้ถึงกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน และเขาจะเกิดการตระหนัก สามารถต่อยอดการทำกิจกรรมได้โดยที่เราคาดไม่ถึงก็มี เป็นการนำมาซึ่งงานที่เขาปฏิบัติเองได้ รวมถึง การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อต่อการทำงานแก้ไขปัญหาสุรา หลังจากที่เราพูดคุยในภาพกว้าง ส่วนในมุมมองของคนดื่มสุราเราต้องมองว่าเราจะทำยังไงให้เขาลด ละ เลิกการดื่มสุรา โดยชุมชนช่วยในการขับเคลื่อน มีการสร้างกระแส สร้างความตระหนักรู้ในชุมชนคือ ชุมชนรับรู้ว่าในหมู่บ้านชุมชนรู้ว่าในพื้นที่มีปัญหาเรื่องสุรา ที่มีผลทางตรงและทางอ้อม

"เราเป็นคนของภาครัฐเราจะไปคิดแทนมากก็ไม่ได้ บางอย่างมันอาจจะขัดแย้งกับบริบทในชุมชนของเขาได้ และไม่สามารถทำได้ก็จะไม่เกิดการยอมรับ หากเราให้เขามีส่วนร่วมและให้เขาได้กำหนดหรือวางแผนเองในการทำงานขับเคลื่อน จะเกิดการทำงานได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน" ผอ.รพ.สต.บ้านแม่เตี๊ยะ กล่าว