จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวน “เที่ยว ทัศน์ ทอ สู่เมืองน่าน”เชิงสร้างสรรค์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวน “เที่ยว ทัศน์ ทอ สู่เมืองน่าน”เชิงสร้างสรรค์





ad1

น่าน – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวน “เที่ยว ทัศน์ ทอ สู่เมืองน่าน” โปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนเมืองน่าน

ศาสตราจารย์ ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ  ทีมคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำร่องการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวต่อยอดจากงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับชุมชนในจังหวัดน่าน ภายใต้ สถาบันการเรียนรู้และการประกอบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Creative Tourism Academy) หรือ CUCT  นำเสนอโปรแกรม “เที่ยว ทัศน์ ทอ สู่เมืองน่าน”   โดยนำคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน  ผู้บริหาร บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด สำนักงานน่าน  ในฐานะภาคเอกชน   และ เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมเส้นทางโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2565

ศาสตราจารย์ ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล  กล่าวว่า  จากงานวิจัย โดยพัฒนาต่อยอดเป็นโปรแกรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับชุมชนในจังหวัดน่าน "เที่ยว ทัศน์ ทอ สู่เมืองน่าน" โดยเน้นจุดเด่นของแนวคิด 3 ด้าน คือ  การเที่ยวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่มาจากความเข้าใจวิถีวัฒนธรรมและมีประสบการณ์ร่วมกับชุมชน การเที่ยวเพื่อเปิดโลกทัศน์และสร้างสีสันให้กับชีวิตของนักท่องเที่ยวและชุมชนผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน และการเที่ยวเพื่อชมผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดน่านที่ผสมผสานองค์ความรู้ด้านแฟชั่นและสิ่งทอไปสู่ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ที่ยังคงสะท้อนเอกลักษณ์ของผ้าน่าน

จังหวัดน่าน อยู่ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย เป็นท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญเชิงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เป็นแหล่งรวมของศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นมีวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมเป็นของตนเองอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะสืบทอดมาอย่างยาวนาน ตลอดจนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดน่านซึ่งเป็นแหล่งรวมกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย วัฒนธรรมเหล่านี้บางส่วน ได้แปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ประจำถิ่น อาทิเช่น ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดน่าน ที่มีความโดดเด่นของลวดลาย โดยมีอยู่ในหลายท้องถิ่น หลายตำบล ซึ่งแต่ละท้องถิ่น และตำบลก็มีเอกลักษณ์ของตนเองตามกลุ่มชาติพันธุ์ มีทั้งผ้าทอที่ทอขึ้นโดยชาวเมืองดั้งเดิมและผ้าทอที่มีมาจากแหล่งอื่น ๆ อาทิเช่น ผ้าทอลายน้ำไหลและผ้าซิ่นของ ชาวไทลื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ ยังกล่าวถึงโครงการ CUCT ว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม CUCT เป็นหน่วยธุรกิจนวัตกรรมบริการด้านการออกแบบประสบการณ์ท่องเที่ยวท้องถิ่นอันทรงคุณค่าที่มีต้นทุนจากงานวิจัย และนำมาต่อยอดให้เกิดการสร้างมูลค่าทางธุรกิจเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจของชุมชน รวมถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านทักษะการประกอบอาชีพและองค์ความรู้เพื่อชุมชน โครงการนี้จะเป็นสื่อกลางในการสร้างความร่วมมือทางสังคมของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ชุมชน และนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้มุ่งศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ใหม่แก่จังหวัดน่าน โดยเน้นด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่นสู่สากล ด้วยการผนวกองค์ความรู้จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 จากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านแฟชั่น สิ่งทอ และนฤมิตศิลป์ เพื่อการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีอัตลักษณ์ จำเพาะจากทุนวัฒนธรรมของพื้นถิ่นจังหวัดน่าน และต่อยอดสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จาก ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ เพื่อให้ได้แนวทางการพัฒนาที่มีความเหมะสมกับลักษณะของทุนวัฒนธรรมพื้นถิ่น จังหวัดน่าน และให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูลที่สามารถนำไปต่อยอดให้ผู้อยู่อาศัยในจังหวัดน่าน ตระหนักถึงความสำคัญ ในการสร้างรายได้ตามแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการเชื่อมโยงทุนวัฒนธรรม อุตสาหกรรมในระบบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้อย่างยั่งยืน โดยกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน แบบเต็มรูปแบบและมีความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว อีกทางหนึ่งด้วย