ป่วยจิตเวชพุ่ง!ตำรวจขอนแก่นแจกไม้ง่ามให้ผู้นำชุมชนใช้เข้าระงับเหตุผู้ป่วยคลุ้มคลั่งรายวัน

ป่วยจิตเวชพุ่ง!ตำรวจขอนแก่นแจกไม้ง่ามให้ผู้นำชุมชนใช้เข้าระงับเหตุผู้ป่วยคลุ้มคลั่งรายวัน





ad1

อนแก่น-ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยยาเสพติด โผล่ทุกตำบล ตำรวจแจกไม้ง่ามให้ผู้นำชุมชน เข้าระงับเหตุคลุ้มคลั่งรายวัน

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 14 ก.ย. 2565 ที่หอประชุมอำเภอเมืองขอนแก่น พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดโครงการ "นาคาพิทักษ์ รักษ์ประชา 1 ตำบล 1 ทีมไม้ง่าม" โดยมี พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสาริกิจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น นายประจวบ รักษ์แพทย์ นายอำเภอเมืองขอนแก่น  และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ในพื้นที่ 9 ตำบลคือ ตำบลบ้านเป็ด บ้านทุ่ม แดงใหญ่ สาวะถี  บ้านค้อ สำราญ  โนนท่อน  เมืองเก่า และตำบลท่าพระ ของ อ.เมืองขอนแก่น จำนวน 180 คน เดินทางมาเข้าร่วมอบรมการใช้ไม้ง่าม ระงับเหตุการณ์ผู้ป่วยจิตเวช  คนวิกลจริต หรือผู้ป่วยยาเสพติด ที่มีอาการทางจิตเวช  มีอาการคลุ้มคลั่ง และก่อเหตุอาชญากรรม ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ซึ่งก่อนการอบรม เจ้าหน้าที่ชุดปราบปราม สภ.เมืองขอนแก่น ได้แสดงวิธีและกลยุทธ์ เทคนิคการใช้ไม้ง่าม เข้าระงับเหตุผู้ป่วยจิตเวช  คนวิกลจริต หรือผู้ป่วยยาเสพติด ที่มีอาการทางจิตเวช  มีอาการคลุ้มคลั่ง ให้กับผู้เข้าอบรมได้ชมกันด้วย ทั้งยังมอบอุปกรณ์ไม้ง่ามให้ตัวแทนตำบลที่เข้าอบรม ตำบลละ 2  ชุด

นายสุทธิศักดิ์ สัสดีไกรสร กำนันตำบลบ้านเป็ด กล่าวว่า  การร่วมอบรมโครงการ1 ตำบล 1 ไม้ง่าม มีประโยชน์กับชุมชนมาก เพราะว่าปัญหายาเสพติดหรือปัญหาเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิตในสังคมทุกวันนี้ มีมากขึ้น ในแต่ละตำบลความแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นปัญหาของชุมชน ที่มีมากขึ้นจริงๆในทุกวันนี้

“1 ตำบล 1 ไม้ง่ามนี้ผมคิดว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนภายในชุมชนของตนเอง แม้ผู้เข้าอบรมที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชนส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ อาจจะสู้กับคนที่อาละวาดไม่ได้เรื้องนี้ไม่ใช่ปัญหา  เพราะโครงการนาคาพิทักษ์รักประชาเราได้มีการอบรมภายในตำบลของตัวเอง เน้นอบรมหนุ่มฉกรรจ์ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 ปีแต่ละหมู่บ้านให้ส่งหมู่บ้านละ 3 คนเข้ารับการอบรมจึงคิดว่าโครงการนี้มีประโยชน์สำหรับชุมชนเป็นอย่างมาก”

ขณะที่  พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น กล่าวว่า โครงการนาคาพิทักษ์รักประชา1 ตำบล 1 ทีมไม้ง่ามนั้น เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ทางฝ่ายปกครองโดยนายอำเภอเมืองขอนแก่น ต้องการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  ทั้งยังเป็นการพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและความรู้ด้านยุทธวิธี ในการระงับเหตุกรณีผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยยาเสพติด ที่มีอาการทางจิตเกิดอาการคลุ้มคลั่ง เพื่อเป็นการป้องกันระงับเหตุและควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที เป็นไปตามหลักยุทธวิธีสากล มีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดความสูญเสียทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ก่อเหตุที่มีอาการทางจิตเวช และผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต

“เรามีการสำรวจผู้ป่วยที่เกี่ยวกับยาเสพติดทั้งจังหวัดประมาณ 2,000-3,000 คน นำมาคัดกรองวัดระดับความรุนแรงแต่ละบุคคล ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทางพี่น้องฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกันที่จะขับเคลื่อนในเรื่องของการระงับยับยั้งกรณีที่บุคคลดังกล่าวได้มีการคุ้มคลั่งและอาละวาด ในขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอ จึงต้องบูรณาการกับฝ่ายปกครองและกำนันผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชนในการที่จะฝึกยุทธวิธีในการใช้ไม้ง่าม เพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกันระหว่างที่มีเหตุเกิด ทีมระดับตำบลสามารถที่จะไปเจรจาหน่วงเหนี่ยวและใช้ยุทธวิธีไม้ง่ามในการระงับยับยั้งในส่วนนี้ได้”

พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขอนแก่นมีการอบรมตั้งแต่ปี2564 ด้วยการฝึกไม้ง่ามไปสู่ระดับตำบลในทุกอำเภอ ในส่วนของอำเภอเมืองพื้นที่ใหญ่ มีความจำเป็นต้องฝึกเพิ่ม ซึ่งนอกจากจะอบรมผู้ระงับเหตุบุคคลคุ้มคลั่งแล้วผู้ฝึกอบรมทุกคนต้องมีความปลอดภัย ซึ่งจะมีการฝึกยุทธวิธีและมีการประเมินผู้คุ้มคลั่งว่าสภาพอาการต้องใช้หลักยุทธวิธีอย่างไร เพื่อความปลอดภัยของบุคคลที่ไปปฏิบัติหน้าที่ ทั้งผู้ช่วยเจ้าพนักงาน กำนันผู้ใหญ่บ้านและก็ตำรวจด้วย ซึ่งในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่นนั้นมีทั้งหมด 15 ตำบล ครั้งนี้อบรมเพียง 9 ตำบล ส่วนตำบลที่เหลือจะอบรมในวันต่อไป

 ซึ่งภายหลังการอบรมก็เชื่อว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน สมาชิกกองร้อยอาสารักษาดินแดน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. และประชาชนทั่วไปในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะด้านยุทธวิธีในการระงับเหตุ เข้าระงับเหตุเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงป้องกันและลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวช