กรมชลฯเตรียมบูรณาการปัญหาน้ำแม่กลองใหญ่ที่เก่าแก่-ส่งน้ำค่อนข้างมาก

กรมชลฯเตรียมบูรณาการปัญหาน้ำแม่กลองใหญ่ที่เก่าแก่-ส่งน้ำค่อนข้างมาก





ad1

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์  รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยหลังการลงพื้นที่โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ว่า  กรมได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งขวา ตามที่ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อครั้งเป็นอธิบดีกรมชลประทานได้ปรารภหลังลงพื้นที่และพบว่ามีปัญหาการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากเป็นโครงการเก่าแก่และมีปัญหาการส่งน้ำค่อนข้างมาก ควรมีการศึกษาปรับปรุงโครงการให้ชัดเจน

ทั้งนี้ โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานประมาณ 2.42 ล้านไร่ ใน จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม  สมุทรสาคร สุพรรณบุรี นครปฐม และบางส่วนของ จ.เพชรบุรี โดยแบ่งเป็นโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย และโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งขวา มีปริมาณน้ำจัดสรรเฉลี่ยปีละร่วม 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายยศวัจน์ ศรีเรืองเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกา(ผคบ.) กล่าวถึงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกาว่าได้มีการริเริ่มมานานถึง 60 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นจะนำเอาระบบการออกแบบเมื่อ 60 ปีก่อนมาใช้ในปัจจุบันคงไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นเชื่อว่าการนำข้อมูลใหม่มาประกอบการปรับปรุงโครงการจะทำให้โครงการนี้จัดสรรการใช้น้ำสู่ภาคประชาชนได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

นางประคอง บ้านใหม่ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำในตำบลบ้านใหม่ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่าเกษตรกรในบริเวณบ้านใหม่มีความต้องการประตูระบายน้ำเพื่อปั่นน้ำโดยตรงเข้าสู่พื้นที่การเกษตร เพราะปัจจุบันลำบากมากในฤดูกาลทำนา ถ้าต้องผ่านน้ำจากประตูอื่นต้องรอจนกว่าน้ำจะล้นซึ่งจะใช้ปริมาณมาก แต่ถ้าสามารถผ่านน้ำเข้าพื้นที่ได้โดยตรงจะทำให้สะดวกยิ่งขึ้นและใช้ปริมาณน้ำที่น้อยกว่าจึงอยากจะให้กรมชลประทานพิจารณาในเรื่องนี้โดยด่วน

นายสนิท พิริยะพงษ์พันธ์ ผู้จัดการโครงการฯ เห็นว่าประเด็นหลักๆตอนนี้คือการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงและเหมาะสมกับทุกพื้นที่อย่างเสมอภาค และต้องปรับปรุงระบบการส่งน้ำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น อย่างปัญหาที่ชาวบ้านเจออยู่ตอนนี้คือจะต้องดึงน้ำจากพื้นที่ที่ต่ำกว่าขึ้นมาพื้นที่ที่สูงกว่า ทำให้ต้องใช้น้ำในปริมาณมากและเกิดปัญหาการชำรุดทรุดโทรมของลำคลองที่ตามมา มาตรการหลักๆที่จะต้องเร่งส่งให้กรมชลประทานตอนนี้คือการปรับปรุงเรื่องสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการระบายน้ำซึ่งต้องเพิ่มแก้มลิง เพราะจะได้นำน้ำที่ถูกระบายแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งคาดว่างบประมาณในการจัดการจะอยู่ที่ 2,000 กว่าล้าน และให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มมากขึ้น