“กล้วยไม้รองเท้านารี”..มงกุฎแห่งยอดดอยสู่ธุรกิจชุมชน

“กล้วยไม้รองเท้านารี”..มงกุฎแห่งยอดดอยสู่ธุรกิจชุมชน





ad1

สํานักงาน กปร. นําสื่อมวลชนในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดําริเยี่ยมชม โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ อ.หางดง และโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดําริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยมี นายไพรัตน์ ทับประเสริฐ ผู้อํานวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดําริ กล่าวต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปความเป็นมาของศูนย์ศึกษา การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ และศูนย์สาขา

ศ.ดร.โสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธ์ุ ไม้ดอกไม้ผลบ้านไรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ด้าน" ศ.ดร. โสระยา ร่วมรังษี" ผู้อํานวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า "โครงการนี้เป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อให้นำมาทำงานวิจัยและเผยแพร่ไปสู่ประชาชน เพราะสมัยก่อนกล้วยไม้ชนิดนี้ถือเป็นพันธุ์ที่หาได้ยาก หากเผยแพร่ไปสู่ประชาชนจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในช่วงแรกกลุ่มเป้าหมายของเราเป็นประชาชนในระดับรากหญ้า โดยเริ่มส่งเสริมจากพืชพันธุ์ประเภทไม้ดอกก่อน จนกระทั่งภายหลังเริ่มมีกลุ่มที่หันมาสนใจไม้ผลจึงได้เข้าไปส่งเสริม อย่างมะม่วงพันธุ์มหาชนก ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกการเผยแพร่ถือเป็นสิ่งที่ยากมากเพราะชาวบ้านไม่รู้จักมะม่วงพันธุ์มหาชนกมาก่อน อย่างที่จังหวัดกาฬสินธุ์เกษตรกรของเราต้องนำไปแลกข้าวสารแทนตัวเงิน

แต่ปัจจุบันหลังจากที่ผ่านมานับ 10 ปีทุกวันนี้มะม่วงมหาชนกเป็นที่นิยมมาก กลุ่มตัวแทนของเราสามารถรวมตัวกันตั้งเป็นล้งในการจำหน่ายมะม่วงพันธุ์นี้ สำหรับไม้ดอกเองก็มีการเจริญเติบโต สวนไม้ดอกเองต้องยอมรับว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยการเจริญเติบโตต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ดอกไม้ของประเทศไทยถือว่าเป็นดอกไม้ที่สวยงามและน่าสนใจ แล้วเริ่มได้รับความนิยมในระดับประเทศ ทำให้ตอนนี้กลุ่มของเราเริ่มขยายไปสู่ภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเราได้ร่วมมือกับเอกชนรวมถึงผู้ส่งออก ทำให้การส่งออกกล้วยไม้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น เพราะเราเองก็มีองค์ความรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้อยู่มากพอสมควร แน่นอนว่าการทำกล้วยไม้เพื่อการส่งออกต้องมีผลการวิจัยจากห้องทดลองก่อน ถึงจะเกิดองค์ความรู้ เราจะไม่นำกล้วยไม้ป่าออกขายโดยทันที แต่เราจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์เพื่อให้เหมาะกับการส่งออกสู่ตลาด"..ศ.ดร. โสระยา กล่าว

นางเครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้า นารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ(ดอยอินทนนท์)

นอกจากนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร. ) ได้นำคณะสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ลงพื้นที่เยี่ยมชม เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยมี

"เครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล" นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้า นารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์)ได้นำพาคณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมสภาพพื้นที่ป่าที่ได้รับการฟื้นฟูจนมีความอุดมสมบูรณ์บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ กิ่วแม่ปาน อาทิการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีและนำคืนสู่ธรรมชาติ สภาพป่าดิบชื้น กล้วยไม้รองเท้านารีจากการขยายพันธุ์ที่นำมาปลูกในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ต้นน้ำป่าดิบชื้นดอยอินทนนท์ หนึ่งในสายน้ำแม่น้ำปิง บริเวณน้ำตกลานเสด็จ ความสมบูรณ์ของป่าสามชั้นของดอยอินทนนท์ (ไม้ชั้นบน ไม้ชั้นกลาง และไม้ชั้นล่าง) ไลเคน ในลักษณะต่าง ๆ (ในระดับสูง บริเวณโคนต้นไม้ และไม้ล้มนอนไพร) ทุ่งหญ้าบนพื้นที่สูง ณ จุดชมวิว ซึ่งเป็นจุดหน้าผาที่เลียงผาออกหากิน พร้อมกล่าวกับสื่อมวลชนว่า 

โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์)

ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 โดยต่อยอดมาจากที่ขุนยวม เอาจริงๆแล้วหน้าที่ของเราคือการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้นารีซึ่งเป็นกล้วยไม้ประจำพื้นถิ่นของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายพันธุ์ บำรุงดูแล จนถึงส่งคืนสู่ผืนป่า..

รองเท้านารีเป็นกล้วยไม้ที่มีความหลากหลายถึง 14 ชนิด แล้วยังมีสายพันธุ์ย่อยๆอีก หน้าที่ของเราคือการรวบรวมสายพันธุ์ต่างๆเพื่อเข้าสู่กระบวนการในการอนุรักษ์อย่างบูรณาการ และผลจากการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์จนส่งกลับคืนธรรมชาติ ส่งผลให้รองเท้านารีเป็นหนึ่งในจุดสำคัญที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติมักมาถามถึงแหล่งของกล้วยไม้รองเท้านารี เพื่อที่จะเข้าชมความสวยงาม ตรงนี้ตอบสนองกับวิธีการท่องเที่ยวแบบชุมชน โดยตัวชาวบ้านเองไม่ได้มีการยุ่งเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ของพืชรองเท้านารีอยู่แล้ว แต่การท่องเที่ยวเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีช่องทางทำมาหากิน โดยเฉพาะการนำเที่ยวซึ่งต้องถือว่าเป็นความเชี่ยวชาญแต่กำเนิดของชาวบ้านแถบนี้ซึ่งเราเรียกกันว่า "ไกด์ป่า" แต่ซึ่งกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ ก็ต้องยอมรับว่าพวกเราทำงานกันหนักมาก ตอนนี้เราเชื่อว่าเราปล่อยต่อของกล้วยไม้กับคืนสู่ธรรมชาติได้กว่า 600 ต้นแล้ว ซึ่งมันเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนมากแต่กาวก็ยินดีทำ

และแน่นอนว่าเมื่อมาถึงดอยอินทนนท์แล้ว สิ่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้คือเยี่ยมชม เส้นทางชมธรรมชาติ "กิ่วแม่ปาน" ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ใกล้กับพระมหาธาตุ นภเมทนีดลและ พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะสั้นเป็นวงรอบระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร กิ่วแม่ปานเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่สวยงามอีกจุดหนึ่งของดอยอินททนท์

"จีรวัฒน์ จุติภูผา" ผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่นกิ่วแม่ปาน เล่าให้ฟังว่าเดิมทีชาวบ้านแถบนี้นิยมปลูกฝิ่นเป็นรายได้ ภายหลังจากที่มีโครงการหลวงเกิดขึ้นบนดอยอินทนนท์หลายๆอย่างก็เปลี่ยนไปในทางที่ดี พรานป่าและชาวบ้านแถบนี้แปลงสภาพจากนักล่าเป็นนักเล่า โดยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยคุณพ่อของคุณจิรวัฒน์เอง ซึ่งก็เคยเป็นพรานป่ามาก่อน

“จีรวัฒน์ จุติภูผา” ผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่นกิ่วแม่ปาน

แน่นอนว่าก่อนหน้านี้พื้นที่แถบนี้ก็มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเดินสำรวจเส้นทางธรรมชาติอยู่มาก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติก็คือ ขยะ! และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้เกิดความเสียหายกับพืชพันธุ์ไม้ธรรมชาติในบริเวณนี้เป็นอย่างมาก อุทยานแห่งชาติชักนำนำคนในพื้นที่ให้เข้ามาเป็นผู้นำทางท่องเที่ยว หรือมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เมื่อก่อนก็มีราว 10 คนและโดยส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่เป็นพราหมณ์แทบทั้งสิ้น แต่ด้วยแนวคิด "ปลูกป่าในใจคน" คนแถวนี้จึงเปลี่ยนจากผู้ล่า ผู้ถากถางทำลายป่าเป็นนักอนุรักษ์ นักปลูกป่าและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับป่าและชุมชนสู่ผู้ที่สนใจมาท่องเที่ยว รวมถึงได้มีการส่งต่อไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน ตอนนี้เรามีเยาวชนที่เป็นมัคคุเทศก์รุ่นเยาว์ อายุ 14 ปีขึ้นไปได้เริ่มทำหน้าที่และพร้อมจะสืบสานเจตนารมณ์ต่อจากคนรุ่นหลังๆ

เมื่อก่อนเรามีมัคคุเทศก์ชุมชนเพียง 10 ท่านซึ่งเป็นชนเผ่าม้งทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นงานของเรากว้างขวางขึ้น เราจึงชวนพี่น้องปกาเกอะญอมาร่วมงานด้วยกัน ทุกวันนี้เรามีมัคคุเทศก์ชุมชนถึง 300 คน

แน่นอนว่าผู้ที่มาเที่ยวพื้นที่ดอยอินทนนท์ อันดับแรกเลยที่ต้องการเห็นคือกล้วยไม้รองเท้านารี แต่อีกสิ่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้คือกวางขาวซึ่งมีชุกชุมมากในพื้นที่แถบนี้ นอกจากนี้เรายังมีตลาดชุมชนของชนเผ่าที่นำสินค้ามาขายให้กับนักท่องเที่ยวเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย..