ชาวเบตงแห่พึ่งโรงตึ๊งเพิ่มขึ้นเท่าตัวหาเงินส่งลูกหลานเรียนต่อสถานที่ใหม่หลังเรียนจบ

ชาวเบตงแห่พึ่งโรงตึ๊งเพิ่มขึ้นเท่าตัวหาเงินส่งลูกหลานเรียนต่อสถานที่ใหม่หลังเรียนจบ





ad1

ยะลา–ผู้ปกครองชาวเบตงหลายบ้านช่วงนี้หมุนเงินไม่ทัน จำเป็นต้องเข้าโรงรับจำนำ เพื่อหาเงินหลังลูกเรียนจบและไปต่อสถานศึกษาใหม่และชาวเกษตรกรหาเงินค่าปุ๋ยใส่สวนผลไม้

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.66 ที่สถานธนานุบาลเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา  กลายเป็นทางเลือกอันดับแรกที่ผู้ปกครองนึกถึง และนำสิ่งของมีค่า โดยเฉพาะทองรูปพรรณไปจำนำ เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายให้บุตรหลานในช่วงเรียนจบในเทอมนี้และเพื่อเตรียมเงินให้ลูกหลานไปศึกษาต่อสถานศึกษาแห่งใหม่

น.ส.นูรียะห์ สาแม ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองเบตง เปิดเผยว่าช่วงนี้มีประชาชนมาจำนำต่อเนื่องทุกวันวันละไม่ต่ำกว่า 200 คน จึงได้เตรียมเงินสำรองหมุนเวียนไว้ 58 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่มาใช้บริการในช่วงนี้  

ส่วนดอกเบี้ยยังคงอัตราเดิม คืออัตราดอกเบี้ย เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ต่อเดือน เงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนเงินต้นเกินกว่า 30,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 แล้ว  สำหรับสิ่งของที่พบว่าคนนิยมมาจำนำมากที่สุดยังคงเป็นทองรูปพรรณ เพราะซื้อง่ายขายคล่องและจำนำได้ราคาดี

แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านมาเข้าปีที่ 3 แล้ว ทำให้พบเห็นคนนำสิ่งของที่ใช้ในการทำมาหากินมาจำนำมากขึ้น อย่างเช่น เตาแก๊ส เตาขนมครกโบราณ เตาปิ้งบาร์บีคิว เครื่องสไลด์เนื้อหมู ครกสาก หม้อหุงข้าว หรือแม้กระทั่งเครื่องตัดหญ้า แต่ที่แปลกที่สุด คือ พราหมณ์นำอุปกรณ์ทำพิธีอย่างพานทองเหลือง มาจำนำ

ขณะที่ประชาชนที่มาจำนำบอกเหตุผลว่า ที่เลือกนำทรัพย์สินมาจำนำเพราะมีความจำเป็น เนื่องจากลูกหลานเรียนจบและจะเรียนต่อสถานศึกษาใหม่และ มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าเทอมและค่าชุด รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะตามมาอีก  การนำของมาจำนำก็ทำให้มีเงินใช้หมุนเวียน และดอกเบี้ยก็ไม่แพง หากพอมีกำลังทรัพย์มากขึ้นเมื่อไหร่ก็จะมาไถ่ถอนออกไป พร้อมทั้งเห็นว่าการจำนำดีกว่าการกู้เงินนอกระบบหรือกดบัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าหลายเท่า และบางส่วนก็มองว่าทรัพย์สินเป็นของนอกกาย หากมีก็เอามาจำนำเพื่อหาเงินช่วยเหลือคนในครอบครัวให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ก่อน

น.ส.นูรียะห์ สาแม ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองเบตง เปิดเผยว่า โดยทั่วไปแล้วสิ่งของที่นำมาจำนำเป็นของเก่าหรือของโบราณ เช่น เครื่องทองเหลือง ขันทองแดง อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องทำน้ำแข็งใส ชุดหม้อสุกี้ไฟฟ้า เตาอบไฟฟ้า ชุดเครื่องครัว อุปกรณ์เครื่องมือช่าง เครื่องตัดหญ้า เครื่องซักผ้า ทีวี และจักรยาน เป็นต้น  โดยมองแนวโน้มว่าจะมีการนำของใช้ในครัวเรือนมาจำนำมากขึ้น

เพราะดูจากสถานการณ์แล้วเพราะเป็นช่วงเด็กเรียนจบและไปหาสถานศึกษาใหม่ ทำให้ผู้ปกครองต้องใช้เงิน และ เป็นช่วงใส่ปุ๋ยผลไม้ เพราะอำเภอเบตง ผลไม้เริ่มออกผลผลิตตั้งแต่เดือนมีนาคม ชาวเกษตรกรในเบตง จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อนำไปซื้อปุ๋ยใส่สวนผลไม้ประกอบกับเตรียมเงินไว้ช่วง เปิดภาคเรียน

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น อีกทั้งสินค้าต่างปรับราคาแพงขึ้น ทำให้สถานธนานุบาลฯ ย่อมเป็นที่พึ่งแห่งหนึ่งของประชาชนที่จะนำทรัพย์สินมาเป็นเงินที่จะใช้หมุนเวียนได้

โดยว...เจษฎา สิริโยทัย อ.เบตง จ.ยะลา