"ฉัตรชัย ศิริไล" ข้ามห้วยเอ็มดี" ธอส."นั่งเก้าอี้ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่

"ฉัตรชัย ศิริไล" ข้ามห้วยเอ็มดี" ธอส."นั่งเก้าอี้ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่





ad1

ศุกร์ 24 มีนาคม 2566 ถือเป็นวันสุดท้ายในการทำหน้าที่ของ  ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ในตำแหน่งผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.  องค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลเกษตรกร  ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 5 ล้านครัวเรือน  ผลงานในฐานะลูกหม้อที่ ธนารัตน์  ฝากไว้กับ ธ.ก.ส.คือ  การบุกเบิกในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้กับงาน   ธ.ก.ส.  ทั้ง  Front office และ Back office  เพื่อรองรับการเติบโต ด้านลูกค้า  บริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึง  การขับเคลื่อนบริการบน A-Mobile Banking ที่ทำให้ ธ.ก.ส. ไม่ตกเทรนด์ และมีบริการด้านเทคโนโลยีที่ไม่น้อยหน้าแบงก์อื่น ๆ

ธนารัตน์ จบทางด้านบริหารธุรกิจ จากรั้วพ่อขุน เริ่มงานกับ ธ.ก.ส. ในปี 31 ตำแหน่งพนักงานสินเชื่อที่  จ.จันทบุรี  ด้วยความสนใจส่วนตัวด้านการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาใช้กับงาน  ทำให้ผู้บริหารในยุคนั้นจับมาเทรน  และผลักดันให้ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่จุฬาฯ  ธนารัตน์เคยพูดถึงความเฉิ่มของตนเอง  ในครั้งที่แบงก์ให้มาเรียนรู้งานด้านคอมพิวเตอร์ว่า...  ผมฟังไม่รู้เรื่องเลย... เขาพูดถึงเรื่องอะไร หรือระบบมันคืออะไร  ทำงานยังไง  เรียกว่าอะไร .. ต้องกลับไปหาข้อมูลจากหนังสือคอมพ์ต่าง ๆ เรียนรู้หนักกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว  จึงตามคนอื่นเขาทัน....ตอนนั้นตั้งใจว่า  เมื่อแบงก์ให้โอกาส  ก็จะทำให้ดีที่สุด  ....นั่นคือจุดเปลี่ยนทั้งของตนเอง  และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใน ธ.ก.ส.

และในวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 คนที่ข้ามห้วยมาจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ฉัตรชัย ศิริไล  จะมานั่งแท่นผู้นำคนที่ 14 ของ ธ.ก.ส.  ภารกิจนี้เป็นที่จับตามอง  ทั้งของคนในและคนนอก  ด้วยปัญหาที่ท้าทายคือ ภาระหนี้ครัวเรือนภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สืบเนื่องจากวิกฤติ COVID-19 ความขัดแย้งรัสเชีย-ยูเครน และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก  ซึ่งส่งผลกระทบตรงต่อเกษตรกร  เมื่อรวมกับปัญหาซ้ำซาก ภัยธรรมชาติ ราคาผลผลิตตกต่ำ  รวมถึงนโยบายประชานิยมเรื่องพักหนี้ที่พักแล้วพักอีก จนคนพักคาดหวังว่าจะได้ยกหนี้...  สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรอ่อนแอ และส่งผลต่อ NPLs ธ.ก.ส. ที่โดดจาก 4% เป็น 12% แม้สิ้นปีบัญชี จะกดลงมาได้เหลือ 7% ก็ยังจำเป็นต้องมีมาตรการอื่น ๆ มารองรับ  เพื่อให้ก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ไปอย่างยั่งยืนงานหินนี้แว่วมาว่า ฉัตรชัย  ต้องไปทำสมาธิ..ไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัยถึง ชเวดากอง ประเทศพม่า  ก่อนเข้ามาทำงานที่ ธ.ก.ส.

ในช่วง 4 วัน ก่อนปิดปีบัญชี ธ.ก.ส. คือ 31 มีนาคม 66  งานแรกของฉัตรชัย  คือตระเวณตรวจเยี่ยมให้กำลังใจสาขา  ตามประเพณีปฏิบัติของผู้บริหาร ธ.ก.ส.ที่ทำกันมา  โดยเฉพาะช่วงนี้มีภารกิจพิเศษ เป็นหน่วยรับบริการยืนยันตัวตน ตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 14 ล้านราย  ข่าวว่า!!  ธ.ก.ส.ทุกสาขามีประชาชนเข้ามาใช้บริการเนืองแน่น...งานนี้ถือเป็นโอกาสเปิดตัวกับคนในด้วยกันเอง ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับฉัตรชัย  ในฐานะผู้จัดการคนใหม่...เพราะการเริ่มต้นด้วยการให้กำลังใจ...ย่อมได้ใจกลับมาเช่นกัน....ก็หวังว่าในปีบัญชีใหม่ของ ธ.ก.ส.(1 เมษายน 2566 -31 มีนาคม 2567) เราจะเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของผู้นำคนใหม่ ธ.ก.ส.คนนี้