ชลบุรีจัดพิธีน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชลบุรีจัดพิธีน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว





ad1

เมื่อเวลา 08.30 น.  วันที่ 31 มีนาคม 2566 นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนางสาวประภัสรา ศรีทอง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี นำข้าราชการตุลาการ ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนและประชาชน วางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะเนื่องใน "วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า" ประจำปี 2566เพื่อแสดงความจงรักภักดี ความกตัญญูกตเวทิตาธรรม และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงปกครองพสกนิกรชาวไทย ให้ร่มเย็นเป็นสุข

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระบรมราชคุณูประการแก่ประเทศและประชาชนเป็นล้นพ้นที่จะพรรณนาได้ เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น บ้านเมืองเริ่มเผชิญปัญหาด้านสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศในยุโรปและอเมริกา แต่ด้วยพระปรีชาญาณอันสุขุมลึกซึ้ง ได้ผ่อนปรนมิให้กระทบกระเทือนทั้งผลประโยชน์ของประเทศและสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ได้ทำนุบำรุงการพาณิชย์นาวี และมีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง รายได้หลั่งไหลเข้ามาเป็นงบประมาณบำรุงแผ่นดินเต็มที่ ข้าราชการได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือนเป็นครั้งแรก ทรงเพิ่มพูนรายได้ของประเทศด้วยการปรับปรุงระบบการเก็บภาษีอากร ทั้งภาษีอากรเก่าและใหม่ และได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามที่สร้างมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 1 ซึ่งร่วงโรยลงตามกาลเวลา

สำหรับพระอารามใหม่ที่ทรงสร้าง ซึ่งมีลักษณะศิลปกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่มากกว่า 30 พระอารามซึ่งล้วนแต่งดงามวิจิตร เป็นศรีสง่าแก่พระนคร ทรงสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก อันเป็นหัวใจของการศึกษาพระธรรมบท กำหนดให้พระเปรียญ นักธรรม สอบเพื่อส่งเสริมให้มีพระเถระที่ทรงคุณวุฒิสูง ประดับเป็นอาภรณ์แห่งพระบวรพุทธศาสนา ปรากฏว่าพระศาสนารุ่งโรจน์แพร่ขยายไปสู่ดินแดนพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกาด้วย ทรงเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นความเจริญของบ้านเมืองและประชาชน จึงโปรดให้จารึกความรู้นานาชนิดไว้ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ทั้งวิชาวรรณคดี ตำรายา โหราศาสตร์ การช่าง ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาอย่างกว้างขวาง จนกล่าวกันว่าวัดโพธิ์คือมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย

ในส่วนการบำรุงรักษาความมั่นคงของประเทศนั้น ทรงยึดหลักการรักษาศักดิ์ศรีของประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้น พระองค์จึงทรงทุ่มเทป้องกันข้าศึกที่แผ่อิทธิพลเข้ามาทำลายความสงบสุขภายในหัวเมืองในพระราชอาณาเขตด้วยการส่งกองทัพไปปราบปราม ทำให้ข้าศึกระย่อหยุดยั้งลง การศึกแม้จะยืดเยื้อเนิ่นนาน แต่ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจในรัชสมัยได้จัดระเบียบไว้อย่างเรียบร้อย จึงมิได้กระทบกระเทือนสถานภาพการเงินของประเทศ ทรงทำลายฝิ่น ซึ่งเป็นยาเสพติดร้ายแรงในสมัยนั้นให้หมดไปจากประเทศ เพื่อป้องกันพสกนิกรให้รอดพ้นจากความหายนะ อันเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติ น้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยแผ่นดินล้นพ้นสุดที่จะคณานับได้ พระราชทานเสรีภาพให้หมู่พระบรมราชวงศ์มุขอำมาตย์ ข้าราชการเลือกสรรอัญเชิญผู้ที่เหมาะสมสืบราชสันตติวงศ์

ทรงจัดสรรพระราชทรัพย์พระราชทานไว้ทำนุบำรุงพระอารามที่ยังค้างอยู่ให้สำเร็จ และพระราชทรัพย์ส่วนที่สำคัญที่สุดคือส่วนที่พระราชทานไว้แก่แผ่นดินซึ่งเก็บรักษาไว้ในถุงแดงเป็นจำนวนหลายหมื่นชั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาเป็นค่าชดใช้แลกเปลี่ยนอธิปไตยของชาติ ในกรณีพิพาทดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อรัตนโกสินทร์ศก 112 อันเป็นวิกฤตการณ์ที่คับขันล่อแหลมในสมัยนั้นอย่างยิ่งยวด จึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้ามิใช่พระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานพระราชทรัพย์ไว้แล้ว ชาวไทยทั้งมวลจะภาคภูมิในความเป็นชาติเอกราชอย่างสง่าผ่าเผยเช่นปัจจุบันนี้มิได้พระราชกรณียกิจตลอดเวลา 27 ปี แห่งการครองราชย์ ทรงสร้างสรรค์คุณประโยชน์อเนกอนันต์ อันเป็นรากฐานแห่งความเจริญวัฒนาทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้มอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติคุณของข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2565 ให้แก่ข้าราชการในจังหวัดชลบุรี จำนวน 24 ราย ณ อาคารอเนกประสงค์วิทยาการ โรงเรียนชลกันยานุกูล อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี