“บิ๊กตู่”เมินร่วมงานวันเมย์เดย์-มอบ“สุชาติ”ขึ้นเวทีใหญ่แทน เปิด7 ข้อเรียกร้องลูกจ้าง

“บิ๊กตู่”เมินร่วมงานวันเมย์เดย์-มอบ“สุชาติ”ขึ้นเวทีใหญ่แทน เปิด7 ข้อเรียกร้องลูกจ้าง





ad1

“บิ๊กตู่”ไม่ให้ความสำคัญงานวันเมย์เดย์-มอบ “สุชาติ”ขึ้นเวทีใหญ่แทน เผย 7 ข้อเรียกร้องลูกจ้าง กรรมกร 2 ขบวนเดินสวนทางกันเช่นเคย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2566 ในวันที่ 1 พฤษภาคม ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานดูแลในรายละเอียดของข้อเรียกร้องต่างๆ ที่จะยื่นในวันแรงงาน อย่างไรก็ตามมีหลายประเด็นที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น กรณีการจัดตั้งโรงพยาบาลของสำนักงานประกันสังคม โดยได้หารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไประดับหนึ่งแล้ว แต่ต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและอาจต้องแก้ไขกฏหมายซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของสภา

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเรียกร้องเรื่องการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมานับสิบปีแต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง นายสุชาติกล่าวว่า จริงๆแล้วเรื่องการรวมตัวกันนั้นทำได้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของแรงงานต่างด้าว ถ้าสมัครเข้าร่วมงานกับสหภาพแรงงานก็สามารถทำได้เลย แต่การจะก่อตั้งเป็นสหภาพแรงงานของแรงงานต่างด้าวอย่างเดียวจำเป็นต้องหารือในรายละเอียดเพราะเกี่ยวพันถึงเรื่องความมั่นคง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงไม่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า ตนก็ไม่แน่ใจเพราะได้เสนอเรื่องไปแล้ว แต่นายกฯ อาจติดภารกิจอื่น

ทั้งนี้การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 อย่างเป็นทางการ ในปีนี้จัดขึ้นใน 2 พื้นที่โดยในช่วงพิธีสงฆ์ตอนเช้าเวลา 07.00 น.จะจัดขึ้นที่กระทรวงแรงงาน ดินแดงโดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ขณะที่ในส่วนของสภาองค์การลูกจ้างต่างๆที่ได้รับเงินสนับสนุนจัดงานจากรัฐบาลจะมีการจัดริ้วขบวนที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ตั้งแต่เวลา 08.30 น.และเดินไปยังลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.และในเวลา 11.00 น.นายสุชาติ จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมทั้งกล่าวคำปราศรัยต่อผู้ใช้แรงงาน

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของกลุ่มสภาองค์การลูกจ้างต่างๆเนื่องในวันแรงงานประกอบด้วย 1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 2. ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ - หรือประกาศเป็นกฎกระทรวง ให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง“เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง

3 ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม อาทิ ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปีเป็น15-70 ปี เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว ขอให้ยังรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต 4. ขอให้กระทรวงแรงงาน จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน 5. ขอให้เร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้าง

ภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญและลูกจ้างที่อยู่ในระบบ

ประกันสังคมมาตรา 33

6.เร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว 7. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2566 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

ขณะที่นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาสมาพันธ์สมานฉันแรงงานไทย (สสรท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนของ สสรท. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหภาพแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ ได้ร่วมกันจัดงานโดยนัดหมายกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลา 08.00 น.และเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในเวลา 09.00 น.เพื่อยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล

นายชาลีกล่าวว่า  ข้อเรียกร้องหลักคือเรื่องค่าจ้างขึ้นต่ำ โดยเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้าทำงาน และให้ทุกบริษัทมีโครงสร้างค่าจ้างและมีการประเมินผลงาน 1 ปี สุดท้ายคือทุกคนได้ปรับค่าจ้างประจำปีหมด ทำให้เกินกว่าค่าจ้างแรกเข้าและไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้มีค่าจ้างที่ปรับขึ้นเสมอ ไม่ใช่รอแต่ค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งสถานประกอบการมักยึดถืออยู่ตลอด กฏหมายคือจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ ทำให้ผู้ใช้แรงงานราวอยู่ 2 ล้านคนที่ไม่ได้ปรับค่าจ้างรายปี โดยเฉพาะตามโรงงานเล็กๆ และโรงงานสิ่งทอ ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้กันในเชิงนโยบาย

นายชาลีกล่าวว่า ข้อเรียกร้องอีกประการหนึ่งคือ ขอให้รัฐควบคุมราคาสินค้าเพราะรัฐบาลควบคุมเฉพาะราคาสินค้าในบัญชีควบคุม แต่สิ้นค้าอื่นๆเช่น ในตลาดสดรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ ที่สำคัญคือการควบคุมสาธารณูปโภคต่างๆ ให้ได้จริงๆ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ซึ่งคนงานได้รับผลกระทบมานานแล้ว เพราะส่วนใหญ่ต้องเช่าบ้านอยู่จึงเสียค่าไฟฟ้าแพงกว่าปกติ

“คนงานถูกเอาเปรียบเรื่องค่าไฟฟ้ามานานแล้วโดยที่รัฐไม่ได้ลงมาดูความเดือดร้อนจริงจัง วันนี้พอเป็นกระแสข่าวก็บอกว่าจะลดราคาให้ แต่เมื่อก่อนกลับไม่ยอมลด ทางที่ดีรัฐบาลควรทำให้ถูกต้องเพราะเป็นสาธารณูปโภคที่รัฐควรเข้ามาดูแล ไม่ใช่เอาไปให้เอกชนทำ เอกชนเขามองเรื่องกำไรสูงสุดมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จึงไม่ควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” นายชาลี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอยากเห็นนโยบายเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานอย่างไรบ้าง นายชาลีกล่าวว่า สิ่งที่นักการเมืองหาเสียงขอให้ปฎิบัติได้จริงๆ โดยเฉพาะพรรคหลักๆ ที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหาร ไม่ใช่แค่หาเสียงอย่างเดียวแต่ต้องทำให้จริงจังด้วย ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับโกหก

นายสาวิทย์ แก้วหวาน อดีตเลขาธิการ สรส.กล่าวว่า ตนทำงานเป็นขบวนแรงงานมา 40 ปีแต่ข้อเรียกร้องไม่ได้รับการแก้ไขจึงตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพราะไม่สามารถพึ่งพาพรรคการเมืองที่มีอยู่ได้ วันนี้สถานะความยากจนของคนงานเต็มกลืน หนี้สินครัวเรือนก็มากมาย และมีการเลิกจ้างเป็นรายกลุ่มเล็กๆกระจายไปทั่วซึ่งไม่เป็นข่าว ทำให้ชีวิตของคนงานยากลำบาก สิ่งที่เราต้องการคือทำให้คนเข้าใจปัญหานี้

“ต้องยอมรับความจริงว่าพรรคการเมืองมีเป้าหมายต่างกัน พรรคที่เกี่ยวกับแรงงานเคยมีการจัดตั้งแต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จ แต่เราต้องจัดกระบวนทัพจัดกระบวนยุทธ์กันใหม่”นายสาวิทย์ กล่าว