"ก้าวไกล"หารือ พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล "พิธา" หวัง "ปชป.-ภูมิใจไทย"ร่วม

"ก้าวไกล"หารือ พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล "พิธา" หวัง "ปชป.-ภูมิใจไทย"ร่วม





ad1

ก้าวไกล เตรียมหารือ พรรคการเมือง จัดตั้งรัฐบาลวันนี้ รองหัวหน้าพรรค เผย พยายามโน้มน้าว ส.ว.ร่วมโหวต "พิธา" พร้อมหวัง ปชป.-ภูมิใจไทย ร่วมโหวต ชี้ ควรเคารพเสียงประชาชนและทำตามที่พูดไว้

มื่วันที่ 16 พ.ค. 2566 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลในการตั้งรัฐบาล ว่า วันนี้จะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อเริ่มพูดคุยกันถึงแนวทางที่จะหารือกับพรรคการเมืองแต่ละพรรค เป็นการลงรายละเอียด หลังจากที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ประกาศไว้ ทั้งนี้ ก็เพื่อเตรียมข้อมูลนำไปคุยกับพรรคต่างๆ ภายในวันนี้ ส่วนจะไปพูดคุยกับพรรคใดก่อน จะไปทีละพรรคหรือไปคุยรวมกันทุกพรรคนั้น จะต้องขอหารือกับเลขาธิการพรรคก่อน

ส่วนการพูดคุยกับ ส.ว.นั้น ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันเป็นการภายใน แต่ ส.ส.ในพรรค ก็พอรู้จักกับ ส.ว.บ้าง เพราะเคยทำงานร่วมกันมา ก็คิดว่าแต่ละท่านก็คงจะมีการไปพูดคุย

ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ยึดมติของประชาชน โหวต นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มองว่า บางพรรคเคยให้สัมภาษณ์ว่า จะยกมือให้กับแคนดิเดตของพรรคที่มาอันดับ 1 ก็ต้องไปถามว่า คำพูดที่เคยพูดจะทำหรือไม่ เพราะจะเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย หากพรรคการเมืองต่างๆ ให้การยอมรับเสียงของประชาชน และร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะการเลือกนายกฯ ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นโอกาสแค่เปลี่ยนรัฐบาลและเป็นการเปลี่ยนประเทศไทย

นักข่าวถามว่า จะมีติดต่อกับพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพูดคุยในการยกมือโหวต นายพิธา เป็นนายกฯ หรือไม่นั้น นายพิจารณ์ ตอบว่า หากแต่ละพรรคมีจุดยืนน้อมรับเสียงของประชาชน ก็คงไม่ต้องคุยอะไรกันมาก

ทั้งนี้ นายพิจารณ์ ในฐานะหัวหน้าทีม กทม. ยังขอบคุณคะแนนเสียงในพื้นที่ กทม.ด้วย โดยบอกว่า สนาม กทม.เพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัว และหลายเขตผลการเลือกตั้งค่อนข้างขาด มีเพียงเขตที่ 20 ลาดกระบัง ที่การประกาศผลของ กกต.ว่า ห่างกันอยู่ 4 คะแนน ซึ่งทางทีมงานกำลังทบทวนคะแนนอีกครั้ง หากผลคะแนนไม่ได้เป็นไปตามที่ กกต.ประกาศ ก็จะขอให้ไปรวมคะแนนใหม่

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ก้าวไกลชนะสนาม กทม. ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ตั้งเป้าไว้ที่ 19 เขตก่อนที่ กกต.จะแบ่งเขตใหม่ พอแบ่งเขตใหม่ ก็ทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบอยู่บ้าง แต่ด้วยการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ ซึ่งเห็นจากเวทีดีเบตและโซเชียลมีเดีย ทำให้ประเมินได้ว่าถ้าไม่ใช่ 19 เขต ก็ต้องเป็น 29-30 เขตไปเลย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระแสให้เป็นคะแนน และขอบคุณประชาชนที่ไว้วางใจ และจะพิสูจน์ให้เห็นว่า นายพิธา ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 70 ปี จะบริหารประเทศ โดยเอาผลงาน การทำงานมาเป็นการขอบคุณให้กับประชาชน

นักข่าวถามถึงกรณี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค 39 คน หากจะมีใครเข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐบาลแล้วต้องขยับบัญชีรายชื่อหรือไม่นั้น นายพิจารณ์ ตอบว่า เคยมีการพูดคุยกันในพรรคว่าควรจะลาออก หากจะเข้าไปรับ

ตำแหน่ง แต่บุคลากรที่เป็นแกนนำสำคัญ ทั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย ก็ยังคงต้องคงความเป็น ส.ส.ไว้อยู่ ส่วนเพื่อน ส.ส.ท่านอื่น ก็คงต้องให้ลาออก.