“จุรินทร์” ชี้ ไทยเป็นนิติรัฐ การเมืองต้องเคารพกฎหมาย-นับ 1 รับรอง ส.ส.

“จุรินทร์” ชี้ ไทยเป็นนิติรัฐ การเมืองต้องเคารพกฎหมาย-นับ 1 รับรอง ส.ส.





ad1

“จุรินทร์” ชี้ ประเทศเป็นนิติรัฐ การเมืองจึงต้องเคารพกฎหมาย ไม่ว่า กกต. ศาล ต่างมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ต้องนับหนึ่งจากการรับรอง ส.ส.ก่อน ตอบไม่ได้ หากพรรคได้คะแนนสูงสุด เกิดอุบัติเหตุการเมือง จะมีการพลิกขั้วหรือไม่

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ ภายหลัง เป็นประธานเปิดหลักสูตร สายสัมพันธ์ไทย-จีน เพื่อผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 2 ประเด็นการเมืองว่า สำหรับการเมืองนั้นทุกอย่างต้องนับหนึ่งจากการรับรองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงจะมีการเปิดการประชุมรัฐสภา และไปสู่เรื่องการเลือกประธานสภา และการเลือกนายกรัฐมนตรีและการตั้งรัฐบาลต่อไป ขั้นตอนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ส่วนรัฐบาลใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ขณะนี้ต้องถือว่า พรรคก้าวไกลยังทำหน้าที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ ซึ่งตนคิดว่า ประชาชนก็เฝ้าดูอยู่ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร

ส่วนตัวคิดว่า เมื่อพรรคก้าวไกล สามารถรวมเสียงข้างมากในสภาได้ก็เป็นการทำหน้าที่ในการเดินหน้าจัดการรัฐบาลต่อไป และทุกอย่างก็จะเข้าสู่กระบวนการที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ กกต.รับว่าจะสอบนายพิธา ตามมาตรา 151 จะมีผลต่อ การโหวตนายกรัฐมนตรีในสภาหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวตอบว่า ตนไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีผลต่อการโหวตมากน้อยเพียงใด แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามกฎหมาย การเลือกตั้งเป็นผลการตัดสินใจทางการเมืองของพี่น้องประชาชน แต่ว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และต้องเป็นหน้าที่ของกลไกที่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อ กกต.ดำเนินการไปอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับ กกต. ว่า จะมีความเห็นอย่างไร ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ และ กกต.เองก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะหลีกเลี่ยงบังคับใช้กฎหมายได้ และเมื่อผลเป็นอย่างไรก็ต้องไปสู่ศาล ส่วนจะเป็นศาลใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ กกต. จะตั้งขึ้น ว่าจะไปศาลใด เพราะมีเงื่อนไขบังคับไว้แล้ว ว่าหากเป็นเรื่องของคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงรับเลือกตั้ง ส.ส.ว่า จะสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้หรือไม่ ก็ต้องเป็นศาลฎีกา แต่ถ้าเป็นคุณสมบัติ ข้อสงสัย ในเรื่องของการเป็น ส.ส.แล้ว จะขาดคุณสมบัติ ส.ส.หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่สามารถทำเป็นอย่างอื่นได้ และทุกคนมีหน้าที่เคารพกฎหมาย เพราะประเทศไทยเป็นนิติรัฐ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็ต้องรอกลไกที่จะเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุด จะมีการพลิกขั้วตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายจุรินทร์ ตอบว่า ตนไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ แต่ขณะนี้ต้องถือว่าพรรคก้าวไกล เป็นแกนตั้งรัฐบาล ก็ขอให้ตั้งสำเร็จ ตนถือหลักชัดเจนในทางการเมือง กับ ทางกฎหมาย ในทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง พรรคใดรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็มีสิทธิ์ที่จัดตั้งรัฐบาล ส่วนในทางกฎหมายทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย หากทำผิดกฎหมาย กลไกที่บังคับใช้กฎหมายก็มีหน้าที่ในการที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพราะหลักมีชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งทางการเมือง และตามหลักกฎหมาย​