ภาคเอกชน หนุน “น่าน” สู่เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปพื้นบ้านของ"ยูเนสโก”

ภาคเอกชน หนุน “น่าน” สู่เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปพื้นบ้านของ"ยูเนสโก”





ad1

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ เป็นอีกหนึ่งโครงการของยูเนสโก ที่ดำเนินงานควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์  ทำการเปิดรับคัดเลือกในทุกๆ 2 ปี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่ความร่วมมือในระดับนานาชาติของภาคประชาคม ประชาชน เอกชน และสาธารณะ  ซึ่งประโยชน์ของการได้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกนั้น นอกจากจะได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการสนับสนุน เสริมสร้างการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เหนือสิ่งอื่นใดการเป็นเมืองสร้างสรรค์ ยังก่อประโยชน์ต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม  ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเมืองที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลก ให้เดินทางมาเยือนเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนได้เผยแพร่มรดกทางภูมิปัญญา ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอันทรงคุณค่า ให้แก่สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั่วโลกให้ได้รู้จักมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน อพท.6 จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนชาวน่าน มีแผนพัฒนา และผลักดัน จังหวัดน่าน ซึ่งมีศักยภาพต้นทุนทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ตลอดจน ศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่  และปราชญ์ท้องถิ่น โดยภาคเอกชน อย่าง สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นสำนักงานด้านความยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดระบบการบริหารงานภายในชุมชน บรรเทาสาธารณภัย และมิติอื่น ๆ อย่างครอบคลุม ได้เรียนรู้ และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก

นายบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าว่า สำนักงานด้านความยั่งยืนฯ เป็นศูนย์รวมของความร่วมมือกับประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคการศึกษา เพื่อร่วมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชน ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ ต่อยอดแนวคิดภายในชุมชนสู่ธุรกิจเพื่อสังคม พร้อมผลักดันงานด้าน Community Development พัฒนาสินค้าชุมชนและบรรจุภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานตรงความต้องการของตลาด เชื่อมโยงสินค้าชุมชนหรือสินค้าเกษตรกับตลาดปลายทาง

ซึ่งที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตรวมกว่า 1,033 ราย เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 252,428 บาท และมีการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งด้านบรรเทาสาธารณภัย และด้านการศึกษาไปแล้วกว่า 24,440 ราย นอกจากนี้ยังจัดโครงการอื่น ๆ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เยาวชน รวมถึงบุคคลทั่วไป อาทิ นิทรรศการ หลักสูตรฝึกอบรม การจัดสัมมนา ฯลฯ รวมกว่า 8,126 ราย พร้อมตั้งเป้าขยายผลลัพธ์ช่วยเหลือคนน่านให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

และในปี 2565-2566  ในฐานะภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการจัดพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ในจังหวัดน่าน โดยมีส่วนร่วมในการจัดพื้นที่สร้างสรรค์ Nan Creative Space ผ่าน 2 กิจกรรมหลักใหญ่ๆ คือ  1.การจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่สอดคล้องและส่งเสริมการจัดพื้นที่สร้างสรรค์ อาทิ  "สืบฮีต สานฮอย" พัฒนาหลักสูตรมรดกทางวัฒนธรรม ร่วมกับวิทยาลัยชุมชนน่าน อพท.น่าน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรม หัตถศิลป์พื้นถิ่นเมืองน่าน, งานเสวนาวิชาการ “ภูมินามหมู่บ้านในจังหวัดน่าน สู่การออกแบบกราฟิกคลิปอาร์ต”, พัฒนาเยาวชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน : Young Guide    แทรกแนวคิดการเป็นไกด์ชุมชน ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์     และ 2.เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ณ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาดำเนินโครงการ และกิจกรรม Nan Creative Space

ทั้งนี้ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมอย่างเต็มที่  ที่จะร่วมสร้างสรรค์คุณค่า สู่การพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอย่างสมดุลให้เมืองน่าน  สร้างสรรค์สิ่งใหม่แก่ชุมชนไปด้วยกัน  เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกต่อไป