พ่อเศร้า ไม่รู้ "หมอมีน"เข้าเวร 4 กะจริงมั้ย เผยก่อนเสียชีวิตกำลังไปดู 2 รพ.พื้นที่ห่างไกล

พ่อเศร้า ไม่รู้ "หมอมีน"เข้าเวร 4 กะจริงมั้ย เผยก่อนเสียชีวิตกำลังไปดู 2 รพ.พื้นที่ห่างไกล





ad1

จากกรณี พญ.ญาณิศา สืบเชียง หรือ หมอมีน แพทย์อินเทิร์นปี 1 ของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะเสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งบุคลากรในวงการแพทย์ ได้ออกมาไว้อาลัยให้กับการเสียชีวิตของหมอมีน รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่า หมอมีนซึ่งเป็นแพทย์จบใหม่ ต้องเข้าเวรควบกะ ติดต่อกันถึงสี่กะ จนร่างกายอ่อนเพลีย ก่อนจะขับรถไปประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันที่ 25 มิ.ย.2566 ที่ศาลาสวดพระอภิธรรมศพ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีศพของ พญ.ญาณิศา สืบเชียง หรือ หมอมีน นายนิธาน สืบเชียง อายุ 51 ปี พ่อของหมอมีน ที่อยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสียลูกสาว

นายนิธาน กล่าวว่า พญ.ญาณิศาเป็นนักเรียนทุนของมหาวิทยาลัยมหิดล และได้เป็นแพทย์อินเทิร์นปี 1 ที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ซึ่งหลังจากปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรในวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาเสร็จเรียบร้อย ในเวลา 16.00 น. พญ.ญาณิศาได้ขับรถออกจากโรงพยาบาล เพื่อมุ่งหน้าไปยังพื้นที่ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี เพื่อจะไปดูสถานที่ของโรงพยาบาลสถานพระบารมี และโรงพยาบาลหนองปรือ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล อยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีกว่า 100 กิโลเมตร

นายนิธาน กล่าวต่อว่า ซึ่งลูกสาวมีความตั้งใจที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์อินเทิร์นปี 2 ที่โรงพยาบาล 1 ใน 2 แห่งดังกล่าว หลังออกเวรจึงได้ตัดสินใจขับรถมุ่งหน้าไปดูสถานที่ของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งด้วยตนเอง เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่โรงพยาบาลใด ก่อนที่จะประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

นายนิธาน กล่าวอีกว่า ลูกสาวของตนเป็นคนตั้งใจทำงาน บางครั้งก็เข้าเวรติดต่อกันจนไม่ได้กลับบ้าน ส่วนวันก่อนเกิดเหตุนั้น ตนไม่รู้ว่าลูกสาวได้เข้าเวรติดต่อกันถึง 4 กะ ตามที่มีคนออกมาให้ข้อมูลจริงหรือไม่ ทราบเพียงว่าลูกสาวมีความตั้งใจที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลพื้นที่ห่างไกลเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น

นายนิธาน กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นพ่อ ก็อยากจะฝากไปถึงผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงโรงพยาบาล ให้ดูแลจัดตารางเวรการปฏิบัติงานของหมอทุกคนให้มีความเหมาะสม ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันจนร่างกายเกิดอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียจนรับไม่ไหว แต่ในส่วนของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับลูกสาวของตนนั้น ตนคิดว่า น่าจะมาจากเรื่องของการไม่ชำนาญเส้นทางมากกว่าความอ่อนเพลียของร่างกายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่