น่านยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่หลักสูตร “จักสานเชิงสร้างสรรค์” อนุรักษ์ สืบสานอาชีพ มีรายได้

น่านยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่หลักสูตร “จักสานเชิงสร้างสรรค์” อนุรักษ์ สืบสานอาชีพ มีรายได้





ad1

งานจักสานเป็นงานหัตถกรรมที่ชาวบ้านทำเพื่อใช้ในครัวเรือนมาแต่โบราณ จนถึงในปัจจุบัน ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยแล้ว งานจักสานยังสะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความคิดสร้างสรรค์ในการนำวัสดุจากธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตได้อย่างผสมกลมกลืน

นางสาวผุสดี สายวงศ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยชุมชนน่าน เล่าว่า ในจังหวัดน่านมีงานหัตถกรรมจักสานจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น อย่างไม้ไผ่ หวาย กก และหญ้าสามเหลี่ยม ในเกือบทุกชุมชน แต่ยังมีไม่กี่ชุมชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ขุมชน จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอื่นๆ ในขณะที่หลายชุมชนมีศักยภาพในการพัฒนาเครื่องจักสานไปสู่งานหัตถกรรมจักสานเชิงพาณิชย์ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งหากมีการรวบรวม จัดทำฐานข้อมูล รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จักสานสร้างสรรค์ร่วมสมัย จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนหัตถกรรมจักสานในจังหวัดน่านมากขึ้น

โดยวิทยาลัยชุมชนน่าน และ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. ได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภูมิปัญญาการจักสาน ที่กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา จึงร่วมกันวิจัย สำรวจข้อมูลเครื่องจักสานจากวัสดุจากธรรมชาติของชุมชนหัตถกรรมจักสานในพื้นที่จังหวัดน่าน ค้นหาแนวทางการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ร่วมสมัยอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เกิดการสืบสานอาชีพจักสานที่นำไปสู่การสร้างรายได้แก่ชุมชนและท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการ “ศึกษา” “สืบสาน” และ “สร้างสรรค์” เก็บข้อมูลทั้งในด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และภูมิปัญญาท้องถิ่นจากครูภูมิปัญญา ในพื้นที่อำเภอเมือง, ภูเพียง, ท่าวังผา, ปัว และบ่อเกลือ จนนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพวัสดุจากธรรมชาติ ลวดลายเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น รูปแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ตรงความต้องการของตลาดในแต่ละกลุ่มการใช้งาน

และปัจจุบันได้ยกระดับไปสู่การพัฒนาเป็นหลักสูตรการสอน แบบฝึกอบรม และ หัตถกรรมประกาศนียบัตร สาขาหัตถกรรมจักสานสร้างสรรค์ เปิดทำการสอนให้แก่ผู้สนใจ เพื่อให้เกิดการสืบสานอาชีพจักสาน และสร้างรายได้ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ผู้เรียนในรุ่นที่ 1 จำนวน 20 ราย มีรายได้หลังเรียนจากการขายจักสานสร้างสรรค์ อาทิ หมวก พานพุ่ม ดอกไม้ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมจักสานสร้างสรรค์ ในบริเวณวิทยาลัยชุมชนน่าน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้งานหัตถกรรมจักสานจากไม้ไผ่ หวาย และหญ้าสามเหลี่ยม ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาหัตถกรรมจักสานในพื้นที่จังหวัดน่าน เกิดการสร้างสรรค์ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และสร้างรายได้ในที่สุด