ศอ.บต.ยื่นมือช่วยเหลือน.ศ.แพทย์ ซูดานพบมาตรฐานหลักสูตรแตกต่างกันของ 2 ประเทศ

ศอ.บต.ยื่นมือช่วยเหลือน.ศ.แพทย์ ซูดานพบมาตรฐานหลักสูตรแตกต่างกันของ 2 ประเทศ





ad1

ศอ.บต. จัดการประชุม หารือช่วยเหลือ น.ศ.แพทย์ ซูดาน หลังเกิดสงครามกลางเมือง พบปัญหาการขอเอกสารทางการศึกษาจากมหาลัย ซูดาน -และมาตรฐานหลักสูตรแพทย์ที่มีความแตกต่างกันของ 2 ประเทศ

วันนี้ (4 ก.ค. 2566) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการประชุมหารือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและตัวแทนนักศึกษาซูดาน เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา (สาขาแพทยศาสตร์) โดยมีนายสมพร เนติรัฐกร ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการประชุม และมีผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ผู้แทนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้แทนนักศึกษาไทยซูดาน ร่วมประชุมเพื่อหาทางออก

สืบเนื่องจาก ศอ.บต. ได้มีการหารือช่วยเหลือนักศึกษาซูดานให้ได้ศึกษาต่ออย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการสำรวจข้อมูลภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566  พบว่า มีนักศึกษาซูดาน สาขาแพทยศาสตร์ จำนวน ๓๑ ราย โดยระบุ ประสงค์เทียบโอนศึกษาต่อต่างประเทศ ๒ ราย ประสงค์เทียบโอนศึกษาต่อในประเทศไทย ๗ ราย และประสงค์ศึกษาคณะอื่น ๑ ราย ทั้งนี้อีกส่วนหนึ่ง แสดงความประสงค์รอให้สถานการณ์สงครามประเทศซูดานสงบก่อน เป็นระยะเวลา ๖ เดือน เพื่อเดินทางกลับไปศึกษาต่อ จำนวน ๑๘ ราย และยังมีนักศึกษาที่ไม่ระบุเหตุผลความประสงค์ จำนวน ๓ ราย

ผู้แทนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า คณะแพทย์ ม.อ. ยินดีต้อนรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย แต่ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของมหาวิทยาลัยในการทดสอบศักยภาพของนักศึกษา และขั้นตอนของการเทียบโอนรายวิชา ซึ่งต้องใกล้เคียง 3 ใน 4 ของรายวิชาทั้งหมด พร้อมกับพิจารณาเอกสารสำคัญทางการศึกษา อาทิ ใบประมวลผลทางการศึกษา รายวิชาที่เรียน คำอธิบายรายวิชา เป็นต้น เพื่อตรวจสอบและเทียบเคียง อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า มาตรฐานการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ของ ม.อ. กับของมหาวิทยาลัย ประเทศซูดาน มีความแตกต่างกัน นักศึกษาอาจะได้เรียนต่อในชั้นปีเดิมหรือต่ำกว่าปีที่เรียนอยู่ก่อนแล้ว

ด้านผู้แทนแพทยสภา กล่าวว่า สำหรับนักศึกษาที่ประสงค์ศึกษาต่อในประเทศไทย จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการเทียบโอนรายวิชา แต่นักศึกษาก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายของการศึกษาเหมือนกับนักศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยในประเทศ ทั้งนี้สามารถขอทุนการศึกษา สำหรับนักศึกษาที่มีฐานะยากจน หรือ ทุนการศึกษาอื่นๆ ซึ่งต้องมีการศึกษารายละเอียดทุนในมหาวิทยาลัยต่างๆ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการหารือสำหรับนักศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในคณะแพทย์ในต่างประเทศ ได้หารือพิจารณาให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย อัล อัซฮัร ประเทศอียิปต์ โดยผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร เผยว่า ทางมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรแพทย์ 2 หลักสูตร สำหรับนักศึกษาซูดานที่ประสงค์เข้าเรียน จะมีหลักสูตรอินเตอร์เนชั่นแนล ที่พร้อมต้อนรับคนต่างชาติเข้าเรียนได้ แต่ก็ต้องมีการสอบจัดลำดับชั้นเช่นเดียวกับ ม.อ. และต้องมีการตรวจสอบเอกสารสำคัญต่างๆของการศึกษา

ซึ่งขณะนี้  มีรายงานว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ประเทศซูดาน เดินทางออกนอกประเทศหมดแล้ว การขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาจึงมีความยากลำบากมาก ทั้งนี้ ทาง มหาวิทยาลัย อัล อัซฮัร อียิปต์ มีการเปิดการเรียนการสอนคณะแพทย์ในหลักสูตรปกติ สำหรับนักศึกษาที่ใช้ภาษาอาหรับ และนักศึกษาในประเทศ ซึ่งมีทุนการศึกษารองรับ แต่จะต้องเข้าเรียนตั้งแต่ปีที่ 1 หากมีความสนใจก็ต้องเข้าเรียนใหม่ในทุนของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ซึ่งจุฬาราชมนตรี เป็นผู้ดูแล