ด้อมส้มโคราชรวมตัวหน้าลานย่าโมประท้วงก.ก.ต.หมกเม็ดชงเรื่องถือหุ้นไอทีวีให้ศาลรัฐธรรมนูญ ฟัน"พิธา"

ด้อมส้มโคราชรวมตัวหน้าลานย่าโมประท้วงก.ก.ต.หมกเม็ดชงเรื่องถือหุ้นไอทีวีให้ศาลรัฐธรรมนูญ ฟัน"พิธา"





ad1

วันนี้ (12 กรกฎาคม 2566) เวลา 16.30 น. ที่บริเวณลานข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ลาย่าโม) ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ได้มีกลุ่มเยาวชนต่อต้านเผด็จการ KoratMovement และประชาชนที่สนับสนุนการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกมารวมชุมนุมแสดงพลังคัดค้านมติ ก.ก.ต. ภายหลังจากที่วันนี้ ก.ก.ต.ได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี ซึ่งมีเหตุ “สิ้นสุด” ลงตามรัฐธรรม 2560 ม.101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ทำให้กลุ่มเยาวชนต่อต้านเผด็จการ KoratMovement รู้สึกไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ก.ต. และออกมารวมตัวชุมนุมคัดค้านมติดังกล่าว พร้อมกับชูป้ายข้อความโจมตีการทำหน้าที่ของ ก.ก.ต. อย่างเช่น “ก.ก.ต.มีไว้ทำไม? ,ฟังเสียงประชาชนบ้าง ,ส.ส. ส.ว.ต้องอยู่เคียงข้างประชาชน เลิกเป็นขี้ข้าเผด็จการเป็นต้น

ซึ่งบรรยากาศการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 30 นาย กระจายกำลังดูแงความสงบเรียบร้อยอยู่ทั่วบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี  โดยนายชลัท ศิริวาณิชย์  อายุ 35 ปี หนึ่งในกลุ่มเยาวชน KoratMovement (โคราช มูฟเม้นท์ ) กล่าวว่า “ปมเรื่องถือหุ้นของนายพิธาฯ หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้นายพิธาฯ ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ตนและประชาชนน่าจะมีความรู้สึกร่วมกันได้อย่างหนึ่งก็คือ มีข้อน่าสังเกตตรงที่ นายพิธาฯ เป็น ส.ส.มา 4 ปีแล้ว แต่กลับไม่เคยมีการเล่นงานในเรื่องเหล่านี้มาก่อน ซึ่งเหมือนกับจงใจมาเล่นงานนายพิธาฯ

ก่อนช่วงจะมีการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งตนมองว่า เป็นความไม่ใสซื่อ ไม่โปร่งใสของหน่วยงานที่ได้ชื่อว่ามีหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและดูแลฉันทามติของประชาชนให้เป็นไปตามเจตจำนงที่ได้ใช้วิทธิออกเสียงเลือกตั้งกันไป และดูเป็นเรื่องตลกร้ายที่ ก.ก.ต. เอาคำว่า “โปร่งใส” ออกจากสโลแกนของตัวเอง   แล้วใช้คำว่า “ชอบด้วยกฎหมาย” มาเหมือนกับการข่มขู่ว่าตัวเองมาโดยชอบทางนิติบัญญัติ ซึ่งถ้าเราสืบย้อนข้อมูลไปก็จะพบว่า แม้แต่การตั้ง ก.ก.ต.ก็อาจจะเป็นมรดกจากยุค คสช. ยุคเผด็จการทหารเรืองอำนาจ  ตนจึงรู้สึกว่าทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่การผดุงรักษากฎหมายอย่างเป็นธรรม แต่เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองมากกว่า  จึงน่าตั้งคำถามว่า “หน่วยงานนี้มีไว้ทำไม? ” เหมือนกับแฮชแท็กที่เป็นเทร็นด์ร้อนในทวิตเตอร์ในขณะนี้

สำหรับเจตจำนงของประชาชนที่บ่งบอกชัดเจนหลังเลือกตั้งแล้ว ก็คืออยากให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้นำในสภาฯ หรืออาจจะถึงขั้นในนายพิธาฯ เป็นนายกฯ เสียด้วยซ้ำ  ซึ่งอาจจมีการสอบสวนเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นกลโกงบางอย่างที่สกัดกั้น เตะขากันทางการเมือง ถ้าเกิดสิ่งนั้นขึ้นจริงๆ ก็อยากให้หน่วยงานต่างๆ ที่ยังไม่เข็ดกันจริงๆ ก็ขอให้ย้อนไปดูวันที่ประชาชนลงถนน แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนของตนเอง ก็ขอให้นึกถึงวันนั้น และหวังว่าท่านจะได้รู้ซึ้งถึงผลลัพธ์ของมันเช่นเมื่อ 2-3 ปีก่อน  ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะเข้าทางอีกฝ่ายหรือไม่นั้น ตนมองว่า ปัจจุบันการทำรัฐประหารเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะประชาชนมีการตื่นรู้กันมากขึ้น เช่น การเลือกตั้งฯ ที่ผ่านมา ถ้าสังเกตดีดี จะเห็นว่า หน่วยเลือกตั้งต่างๆ ที่มีปัญหา ประชาชนจะออกมาเพ่งเล็งจับตา

และตั้งข้อสังเกต วิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนถึงการทำงานที่ล่าช้าของแต่ละหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา ฉะนั้น การเลือกตั้งที่ผ่านมา จึงแสดงให้เห็นว่า ประชาชนมีความแอ็คทีฟทางการเมืองมากขึ้น ดังนั้นเรื่องการเกิดรัฐประหาร ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตาม ซึ่งตนก็บอกไม่ได้ว่าเราตาสว่าง ตื่นรู้มากพอหรือยังที่จะหยุดยั้งไม่ให้เรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้น  ถ้าเกิดว่าคณะใดก็ตามที่นำความวุ่นวายของประชาชน ซึ่งเป็นการกระทำตามสิทธิที่สามารถแสดงออกได้ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้ามีการหยิบมาเป็นข้ออ้างเมื่อไร ก็ลองดูกันว่าประชาชนจะมีฉันทามติ ณ เวลานั้น อย่างไร” .

โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา