เผาทำลายผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลางที่มิใช่ยาเสพติดมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

เผาทำลายผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลางที่มิใช่ยาเสพติดมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท





ad1

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ  ภูริเดช ผบช.ก.,  เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์  รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ  นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา  กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สุพจน์  พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.วีระชัย  นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้บูรณาการร่วมกัน เผาทำลายผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลางที่มิใช่ยาเสพติดให้โทษ ครั้งที่ 13

โดย กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เผาทำลายผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลางที่มิใช่ยาเสพติดให้โทษ ณ บริษัทอัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ จากปฏิบัติการกวาดล้างจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอาทิเช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ที่ผิดกฎหมาย จำนวน 111 คดี น้ำหนักกว่า 45,070 กิโลกรัม รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  เผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ปฏิบัติการเชิงรุกปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเข้มงวด โดยมีของกลางที่ถูกยึดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – พ.ศ. 2566 คดีถึงที่สุดแล้วรวม 111 คดี เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอางใส่สารอันตราย และเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาต น้ำหนักรวมกว่า 45,070 กิโลกรัม รวมมูลค่าของกลางที่นำมาทำลายทั้งสิ้นกว่า 200 ล้านบาท โดยเป็นของกลางที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ จึงจัดให้มีการเผาทำลายของกลางดังกล่าว ด้วยระบบเตาเผาอุณหภูมิสูง 1,200 องศาเซลเซียส มีระบบควบคุมมลพิษ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. 1556  เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการปราบหรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพจะทำการตรวจสอบการผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในท้องตลาด หากพบว่ามีผู้ประกอบการบางส่วนได้ฉวยโอกาสกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การลักลอบผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือแสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง บก.ปคบ. จะได้ร่วมกับ อย. ปฏิบัติการเชิงรุกปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายยังคงอยู่ในสังคมไทย และหวังให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังของภาครัฐ ทั้งนี้หากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป