ทลายแก๊งค้าวัตถุโบราณ ประกาศขายผ่านเฟซบุ๊ก ตรวจยึดของกลางกว่า 1,000 ชิ้น

ทลายแก๊งค้าวัตถุโบราณ ประกาศขายผ่านเฟซบุ๊ก ตรวจยึดของกลางกว่า 1,000 ชิ้น





ad1

กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมและเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ร่วมกันจับกุม 3 ผู้ต้องหา
1. นายทศพรฯ อายุ 26 ปี  ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2759/2566 ลง 28 สิงหาคม 2566 จับกุมได้ในพื้นที่ ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
2. นายทศพลฯ อายุ 19 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2760/2566 ลง 28 สิงหาคม 2566 จับกุมได้ในพื้นที่ ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
3. นายศรีออนฯ อายุ 46 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2761/2566 ลง 28 สิงหาคม 2566 จับกุมได้ในพื้นที่ ต.ท่าวังทอง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา    

โดยกล่าวหาว่ากระทำผิดฐาน “เป็นผู้เก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งโดยพฤติการณ์ ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้และเบียดบังเอาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้น เป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย และ จำหน่าย เอาไปเสีย ซึ่งโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ โดยผิดกฎหมาย”

 พร้อมตรวจยึด 
1. เครื่องสแกนโลหะ 11 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์การขุด
2. สิ่งของคล้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จำนวน 970 ชิ้น
3. สมุดบัญชีธนาคาร 4 เล่ม

สถานที่ตรวจค้น จำนวน 9 จุด ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, ลำปาง, พะเยา และสุโขทัย

พฤติการณ์  สืบเนื่องมาจากตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กก.4 บก.ป. ได้รับแจ้งเบาะแสจากกลุ่มผู้อนุรักษ์โบราณวัตถุ ว่ามีกลุ่มบุคคลลักลอบขุด ค้า โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยมีการนำโบราณวัตถุต่างๆ มาเสนอขายผ่านช่องทางออนไลน์โดยผิดกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร

จากการตรวจสอบพบบัญชีเฟซบุ๊กของกลุ่มผู้ต้องหา ลงโพสต์ภาพการขุดค้นหาโบราณวัตถุ พร้อมประกาศขายสิ่งของคล้ายโบราณวัตถุจำนวนหลายรายการ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการติดต่อซื้อสิ่งของคล้ายโบราณวัตถุดังกล่าว โดยเมื่อทางเจ้าหน้าที่ได้รับสิ่งของคล้ายวัตถุโบราณมาแล้ว ได้มีการส่งตรวจพิสูจน์ที่สำนักศิลปากร กรมศิลปากร ผลการตรวจสอบพบว่าวัตถุดังกล่าวเป็นโบราณวัตถุตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) จริง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ห้ามมิให้มีการขุด ค้นหา หรือซื้อขายโบราณวัตถุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว

จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มคนร้ายมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นพี่น้องกัน มีการโพสต์ภาพผ่านทางเฟซบุ๊กขณะไปร่วมกันขุดหาโบราณวัตถุตามสถานที่ต่างๆ หลังจากนั้นจะนำโบราณวัตถุต่างๆ มาประกาศขายผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยในภาพที่ผู้ต้องหาโพสต์ยังปรากฎบุคคลอื่นๆ ที่ร่วมกันขุดหาสิ่งของโบราณวัตถุกับผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน และขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดจำนวน 3 หมายจับ พร้อมขออนุมัติศาลออกหมายค้นสถานที่ที่เชื่อว่าน่าจะมีการซุกซ่อนโบราณวัตถุหรือสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

จากการตรวจสอบบัญชีธนาคารของผู้กระทำความผิด พบมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 200,000 บาท และมียอดเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 10 ล้านบาท ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดย กก.4 บก.ป. จึงได้วางแผนพร้อมประสานความร่วมมือกับกรมศิลปากร บูรณาการร่วมกันตรวจค้นสถานที่เป้าหมายซึ่งเป็นที่พักอาศัยของผู้ต้องหาตามหมายจับและเป็นสถานที่เชื่อว่ามีการซุกซ่อนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, พะเยา, สุโขทัย และลำปาง รวม 9 จุด โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ ได้จำนวน 3 ราย พร้อมทั้งตรวจยึดสิ่งของคล้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวมจำนวนกว่า 1,000 ชิ้น นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป