CEA เปิดเจรจาธุรกิจ Content Lab รอบ Final ดึง 26 ผู้ผลิตหนังและซีรีส์ สร้างมิติใหม่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย

CEA เปิดเจรจาธุรกิจ Content Lab รอบ Final ดึง 26 ผู้ผลิตหนังและซีรีส์ สร้างมิติใหม่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย





ad1

สำนักงานส่งเเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดเจรจาธุรกิจครั้งใหญ่ ของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย (วันที่ 28 สิงหาคม 2566) ภายใต้โครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล จัด Pitching และ Business Matching เวทีแห่งโอกาส 13 ทีมนักสร้างสรรค์ภาพยนตร์และซีรีส์ นำเสนอผลงานพร้อม Business Matching เจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตและแพลตฟอร์มชั้นนำ 26 ค่าย สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของเมืองไทย เชื่อมั่นแรงผลักดันจากทุกภาคส่วนส่งคลื่นลูกใหม่โตไว ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไปได้ไกลสู่สากล

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล เป็นโปรแกรมเทรนนิงเข้มข้น เพื่อผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ ผ่านการบ่มเพาะเชิงลึกสำหรับ กลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์ (Film & Series) - สร้างสกิล โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ นักเขียนบท ในระดับมาตรฐานสากล และ ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) - คอนเทนต์สื่อใหม่สร้างประสบการณ์ทางดิจิทัล สำหรับผู้เริ่มต้น โดย Content Lab เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมคอนเทนต์มาร่วมให้ความรู้และแชร์ประสบการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาของโครงการ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน 2566

ล่าสุด โครงการ Content Lab กลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์ ได้เดินทางมาถึงช่วงเวลาสำคัญในรอบ Final Pitching ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC กรุงเทพฯ) เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการในกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์ในรอบสุดท้ายทั้ง 13 ทีมได้นำเสนอ Project Proposal และ Teaser ภายใต้กิจกรรม Pitching และ Business Matching โดยมีสตูดิโอ ค่ายหนัง ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ และสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มในระดับประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมเจรจาธุรกิจกว่า 26 ค่าย เช่น WeTV, Netflix, Amazon Studios, iQIYI (Thailand), บริษัท จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด, GMMTV, บริษัท เนรมิตรหนังฟิล์ม จํากัด, บริษัท สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด, บริษัท GDH 559 จํากัด, บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จํากัด, บริษัท บีอีซีสตูดิโอ จํากัด, Workpoint, Thai PBS, GroupM Motion Entertainment, The Monk Studios ฯลฯ ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของการรวมตัวของบุคลากรมืออาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

CEA เดินหน้าเป้าหมาย คอนเทนต์ไทยสู่สากล

ดร.ชาคริต กล่าวว่า จากรูปแบบของเทคโนโลยีและพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา CEA ในฐานะหน่วยงานหลักส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้จัดทำโครงการ Content Lab ขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีศักยภาพอย่างครบวงจรทั้งด้านการผลิตและการตลาด โดยได้จัดทำคอร์สอบรม และเทรนนิงเข้มข้น ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการทำภาพยนตร์และซีรีส์ เพื่อตอบโจทย์ตลาดสากล โดยมุ่งพัฒนา 3 บุคลากรหลักที่ผลักดันการเติบโตในกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์ ประกอบด้วย โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำตลอดโปรแกรม 

โครงการ Content Lab ได้เสริมทักษะความรู้เพื่อตอบรับการเติบโตของคอนเทนต์ไทยในระดับสากล ด้วยการนำเสนอข้อมูลและผลวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ในตลาดเอเชีย รวมทั้งการเชิญผู้เชี่ยวชาญในระดับสากลมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ประกอบด้วย “เรมอนด์ พัฒนวีรางกูล” โปรดิวเซอร์ไทยที่มีผลงานระดับโลก  และ “ยูยองอา” นักเขียนบทชื่อดังชาวเกาหลี ฯลฯ

ศาสตร์และศิลป์ แห่งวงการคอนเทนต์

เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้จัดทำหลักสูตรโครงการ  Content Lab กล่าวว่า การจัดโครงการฯถือเป็นโปรเจ็กต์สำคัญที่เข้ามาเติมเต็มอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ด้วยการอบรมเชิงลึกให้กับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านการผลิตและการตลาด อันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่จำเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับการคัดเลือก ได้นำเสนอผลงานและเกิดการเจรจาทางธุรกิจกับผู้ผลิตภาพยนตร์ สตูดิโอ และสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มชั้นนำ ถือเป็นการพัฒนาทักษะที่ครบวงจร เสริมศักยภาพที่ต่อเนื่องหลังจากรั้วมหาวิทยาลัย รวมทั้งยกระดับความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในปัจจุบัน

โครงการ Content Lab มุ่งตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย โดยเฉพาะตำแหน่งโปรดิวเซอร์ ผู้รับหน้าที่สานฝันของผู้กำกับและนักเขียนบทให้เป็นจริง ซึ่งปัจจุบันเป็นตำแหน่งที่ขาดแคลนมากที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ Content Lab จึงมุ่งพัฒนาทักษะของโปรดิวเซอร์ ให้มองหาความเป็นไปได้ในการผลักดันความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมกับการตลาด ทำให้นักลงทุนมองเห็นโอกาสและผลตอบรับได้อย่างชัดเจน โครงการ Content Lab จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ได้ทำการคัดเลือกผู้สมัครในกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์จากจำนวน 90 ทีม เหลือ 20 ทีม และคัดสรรจนเหลือ 13 ทีมที่จะได้รับทุนสนับสนุนการสร้าง Project Proposal เพื่อนำเสนอผลงานต่อผู้ผลิตและนักลงทุนในรอบ Pitching Day โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มองเห็นศักยภาพของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด ผลงานของแต่ละทีมมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป  อีกทั้งยังพบว่ามีผลงานที่คาดว่าจะมีนักลงทุนนำไปต่อยอดเพื่อการผลิตออกสู่ตลาดได้ 

การรวมตัวครั้งสำคัญ ของกลุ่มผู้ผลิต-แพลตฟอร์มในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ Country Manager WeTV Thailand กล่าวว่า การรวมตัวของบุคลากรในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในโครงการ Content Lab ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีในการต่อยอด Soft Power ของไทยไปสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันแผนการดำเนินงานของ WeTV มีแนวทางในการขยายตลาดซีรีส์มากขึ้น โดยคัดเลือกจากเนื้อหาที่เข้าใจง่าย เบาสมอง สร้างความสุข สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ของ WeTV เช่น แนวโรแมนติกคอมเมดี้ ความยาวไม่เกิน 40 นาที ขณะเดียวกันเนื้อหาแนวอื่น ๆ หากสร้างสรรค์ได้อย่างน่าสนใจ ก็มีโอกาสที่คนดูจะชื่นชอบได้เช่นกัน

การได้เข้าร่วมกิจกรรม Pitching และ Business Matching ในครั้งนี้ เล็งเห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของนักผลิตคอนเทนต์รุ่นใหม่ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับบุคลากรชั้นนำในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ สำหรับผลงานที่ผู้เข้าร่วมโครงการนำเสนอถือได้ว่ามีความน่าสนใจ สะท้อนความโดดเด่นด้านความคิด

สร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ เช่น ผลงาน “GHOST OF A TIN CAN หุ่นทรงจำ” จากทีม There’s Picture In The Laundry  ที่ผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับกลิ่นอายความเป็นไทย เป็นต้น

 จิระ มะลิกุล Head of Producer บริษัท GDH 559 จำกัด กล่าวว่า โครงการ Content Lab ได้สร้างโอกาสที่ดีให้กับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์รุ่นใหม่ หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม Pitching และ Business Matching ทำให้มองเห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จากผู้เข้าร่วมโครงการ และเชื่อมั่นว่าหากผลงานใดได้รับความสนใจจากนักลงทุนและนำไปผลิตจริง ผลกำไรทางธุรกิจหรือชื่อเสียงที่เกิดขึ้น จะส่งผลต่อความสำเร็จอีกขั้นของโครงการ Content Lab และทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการในครั้งต่อไปมากขึ้น ส่วนผู้ผลิตและนักลงทุนก็จะมีช่องทางการสรรหาคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกัน หากภาครัฐมีการสนับสนุนงบประมาณในการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์จากโครงการนี้ จะช่วยส่งเสริมความมั่นใจต่อภาคเอกชนในการเปิดรับไอเดียจากนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และพัฒนาบทภาพยนตร์ บริษัท GDH 559 จำกัด กล่าวเสริมว่า Content Lab ถือเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภค  รวมทั้งการส่งเสริมศักยภาพและโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะกิจกรรม Pitching และ Business Matching ที่มีผู้ผลิตภาพยนตร์และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายนัก จึงอยากให้โครงการ Content Lab มีการจัดกิจกรรมและพัฒนารูปแบบอย่างต่อเนื่องในปีต่อ  ๆ ไป

นิพนธ์ ผิวเณร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตละคร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่มีโอกาสนำเสนอไอเดียผ่านผลงานในรอบนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม สำหรับกิจกรรม Pitching และ Business Matching ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อผลิตผลงานจริง หากนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้รับการพัฒนาทักษะและประสบการณ์ในการนำเสนอผลงานมากขึ้น จะช่วยให้ก้าวสู่ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าโครงการ Content Lab นับเป็นก้าวแรกและก้าวที่สำคัญในการรวมตัวของคนในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ได้เป็นอย่างดี

นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ปลื้มโอกาสเจรจาธุรกิจ

ผู้เข้าร่วมโครงการ ทีม SSK กับผลงาน “THE EVIL LAWYER คำตัดสินของทนายปีศาจ” นำโดย                 “จักริน เทพวงศ์” ผู้กำกับ “ทรงพล จันทรสม” โปรดิวเซอร์ และ “ปัณณพร วัฒนพงษ์” ผู้เขียนบท ได้แสดงความรู้สึกหลังร่วมกิจกรรม Pitching และ Business Matching ว่า การเข้าร่วมโครงการ Content Lab ถือเป็นการต่อยอดและพัฒนาความรู้ เปิดโอกาสพบเจอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยเฉพาะการรับโอกาสจากผู้ผลิตและแพลตฟอร์มชั้นนำเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นโอกาสที่หาได้ยาก

ขณะที่ทีม SKIN ผู้สร้างสรรค์ผลงาน “Skin” นำทีมโดย “ต้องปอง จันทรางกูร” ผู้กำกับ “แม่น้ำ ชากะสิก” โปรดิวเซอร์ และ “ศศิดารา บุญญฤทธิ์” ผู้เขียนบท แชร์ประสบการณ์ในครั้งนี้ว่า Content Lab เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้กับผู้เข้าร่วมหลักสูตร ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการต่อ   ยอดด้านการจัดการงบประมาณและการตลาด ในกิจกรรม Pitching และ Business Matching ซึ่งทำให้พบกับผู้ผลิตชั้นนำเป็นจำนวนมาก ถือเป็นประตูสำคัญในการต่อยอดผลงานสู่นักลงทุน จึงเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมและกำลังจะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ของประเทศไทย