เปิดข้อมูลด่านตรวจชายแดนใต้ เหลือ “ด่านใหญ่” แค่ 23 จุด!

เปิดข้อมูลด่านตรวจชายแดนใต้ เหลือ “ด่านใหญ่” แค่ 23 จุด!





ad1

รองแม่ทัพภาค 4 ยันต่อ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” แค่ 1 เดือน ไม่กระทบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เผยด่านตรวจชายแดนใต้ปรับลดเหลือแค่ 23 จุด ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ รวบคนร้ายหนีหมายจับ ยึดยาเสพติดเพียบเพราะด่านตรวจ ขณะที่จุดตรวจหมู่บ้าน ชรบ. ปรับลดไปหมดแล้ว

หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี และประกาศราชกิจจากนุเบกษา ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต่ออีกเป็นเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.66 เป็นต้นไป โดยยกเว้น 11 อำเภอ จาก 33 อำเภอนั้น

การที่รัฐบาลชุดใหม่ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงแค่ 1 เดือน จากที่เคยขยายเวลาคราวละ 3 เดือนมาต่อเนื่องถึง 72 ครั้ง ทำให้มีการคาดหมายกันว่า อาจจะเป็นการส่งสัญญาณยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกาศมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 หรือกว่า 18 ปีมาแล้ว

ขณะเดียวกันก็มีความกังวลจากบางฝ่ายว่า การต่ออายุขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงแค่ 1 เดือน จากที่เคยต่อ 3 เดือน จะส่งผลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่หรือไม่

ล่าสุด พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวเรื่องนี้กับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า การขยายเวลา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เป็นเวลา 1 เดือน ไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพราะทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) มีแผนจะปรับลดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่แล้ว

ส่วนการตั้งด่านตรวจ ที่ผ่านมาก็ได้ผลทั้งในแง่ความมั่นคงและการป้องกันอาชญากรรม ไม่ได้มีแค่จับกุมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงได้เท่านั้น แต่ยังสามารถจับยาเสพติดได้จำนวนมาก แม้แต่ด่านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลักก็มีผลงานอยู่ตลอด

ที่สำคัญจำนวนด่านตรวจที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ มีการปรับลดจำนวนลง จากข้อมูลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ล่าสุดมีด่านตรวจเพียงแค่ 23 จุดเท่านั้น

“กรณีที่มีบางกลุ่มที่กังวลเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริงๆ มีแผนปฏิบัติการปรับลดพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว โดยเราได้ทยอยลดพื้นที่ไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2570 ก็จะลดทั้งหมด นั่นคือแผนเดิม แต่ถ้าหลังจากนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีปัญหา เราก็มีความพร้อมที่ปฏิบัติกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อจะทำมาตรการรองรับที่เหมาะสมต่อไป”

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ขณะนี้ อย่างที่ทราบอยู่แล้วว่าความพยายามในการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการก็ยังคงมีอยู่ โดยมีการก่อเหตุรายวันในหลายๆ พื้นที่ เพราะฉะนั้นคนที่ได้รับผลกระทบก็มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งขณะนี้ทาง กอ.รมน.4 ส่วนหน้า ก็ยังคงยึดมั่นตามกรอบนโยบายของรัฐ ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ถึงแม้ว่าในอนาคตอาจจะมีการปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายในบางเรื่อง แต่ก็เชื่อว่าการทำงานนำไปสู่การปฏิบัติของ กอ.รมน.ภาค 4 จะไม่มีปัญหา แต่ต้องมีการปรับตัวและปรับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร ทำพื้นที่ให้ปลอดเหตุ และต้องทำทุกวิธีทางที่ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์มีความปลอดภัย รวมไปถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด ก็เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถละเว้นการปฏิบัติได้ 

@@ จับผู้ต้องหา 18 คดี - ยาเสพติดล็อตใหญ่ เพราะมีด่านตรวจ

พล.ต.ปราโมทย์ ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพน้อยที่ 4 ยศพลโท ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ กล่าวด้วยว่า กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นที่ สภ.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยขับรถหนีด่านตรวจ และมาทราบภายหลังว่าเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่มีหมายจับถึง 18 หมาย ก็เป็นผลส่วนหนึ่งที่มาจากการตั้งด่านเฝ้าสังเกตุรถยนต์และบุคคลต้องสงสัย จนนำมาสู่การควบคุมตัว ถือเป็นความจำเป็นในการตั้งด่านตรวจ

“แม้ด่านตรวจจะถูกมองเป็นเครื่องมือในการสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน แต่กับชาวบ้านที่เป็นสุจริตชน เขาก็มีความพึงพอใจ เพราะเขารู้สึกมีความมั่นใจว่าอย่างน้อยก็มีด่านตรวจ”

“ด่านตรวจไม่ได้มีไว้แค่ในเรื่องของการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย แต่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งที่ผิดกฎหมายทั้งปวง โดยเฉพาะยาเสพติด หลายๆ ครั้งในช่วงที่ผ่านมาที่เราสามารถตรวจยึดยาเสพติดบริเวณด่านตรวจได้ โดยแต่ละครั้งเป็นปริมาณที่มาก จำนวนมหาศาล อย่างเมื่อปีที่แล้ว ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นด่านป๊อปอัพเล็กๆ (ด่านเคลื่อนที่) ก็สามารถตรวจยึดยาไอซ์ได้ถึง 999 กิโลกรัม” ว่าที่แม่ทัพน้อยที่ 4 ระบุ

@@ ยันมีแค่ด่านตรวจถาวร จุดตรวจ ชรบ.ปรับลดหมดแล้ว

ด้านเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ารายหนึ่ง ให้ข้อมูลด่านตรวจในพื้นที่ว่า ด่านตรวจจริงๆ แล้วปรับลดลงเยอะมาก ทั้งสามจังหวัดมีด่านตรวจจำนวน 23 ด่าน ที่เป็นลักษณะด่านใหญ่จริงๆ เช่น จุดตรวจด่านขุนไวย์ ตั้งอยู่ทางเข้าเมืองยะลา, ด่านตรวจบ้านเตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี, ด่านตรวจถาวรบ้านควนมีด บ้านคลองเปรียะ หมู่ 5 ต.คลองเปรียะ อ.จะนะ จ.สงขลา ลักษณะนี้ที่เรียกว่า “ด่าน” และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแค่ 23 ด่านเท่านั้น

ส่วนที่เหลือนอกจากนั้นก็จะเป็นจุดตรวจ บริเวณหน้ากองร้อยทุกๆ กองร้อย, จุดตรวจชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) แต่ละหน่วยก็จะมีการตั้งจุดตรวจ เพื่อที่ว่าเวลาเกิดเหตุในพื้นที่ก็สามารถมีการกลั่นกรองตามเส้นทางต่างๆ ทั้งสายหลัก สายรอง และเส้นในหมู่บ้าน ซึ่งคนร้ายจะอาศัยหลบหนีหลังก่อเหตุ โดยเมื่อมีเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ก็เตรียมพร้อมขึ้นปฏิบัติประจำด่านได้ทันที เพราะเราไม่รู้หรอกว่าคนร้ายจะใช้เส้นทางไหนในการหลบหนีเจ้าหน้าที่จะประสานกันแล้วขึ้นปฏิบัติตามด่านตรวจเพื่อสกัดกั้น

“เมื่อก่อนจำนวนด่านที่เห็นว่าเยอะนั้น ก็จะเป็นของหมู่บ้าน ของ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) แต่ตอนนี้ได้มีการปรับลดไปหมดแล้ว โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่สถานการณ์ดีขึ้น” เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุ