อุตุฯเตือน 28-29 ก.ย. ฝนตกหนักถึงหนักมากเสี่ยงท่วมฉับพลัน

อุตุฯเตือน 28-29 ก.ย. ฝนตกหนักถึงหนักมากเสี่ยงท่วมฉับพลัน





ad1


"กรมอุตุนิยมวิทยา" เตือนช่วงวันที่ 28-29 ก.ย. ฝนตกหนักถึงหนักมาก หลายจังหวัดยังได้รับผลกระทบ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง "หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง" ฉบับที่ 13 โดยระบุว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมด้านตะวันตกของภาคเหนือได้อ่อนกำลังลงแล้ว ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 28-29 กันยายน 2566 

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 28 กันยายน 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล  

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา

วันที่ 29 กันยายน 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู และชัยภูมิ

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรี

ภาคตะวันออก : จังหวัดจันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดระนอง

ในช่วงวันที่ 28-29 ก.ย. 2566 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.