หมูภาคใต้วิกฤติราคาวูบผู้เลี้ยงกระอักขาดทุนตัวละ 30-35 บาท

หมูภาคใต้วิกฤติราคาวูบผู้เลี้ยงกระอักขาดทุนตัวละ 30-35 บาท





ad1

“หมูใต้” ตกต่ำสุดแล้ว ราคา 50-55 บาท / กก. ต้นทุน 80-85 บาท / กก. ขาดทุนตัวละ 30-35 บาท / กก. เกษตรกรรายย่อยลุกฮือประชุมใหญ่ ร่อนหนังสือถึง รมว.เกษตร ตัดวงจรหมู ลดแม่พันธุ์ ทำลายลูกหมูนำมาแปรรูปปํนหมูย่าง หากไม่ไดเนินการปี 2567 จบ

แหล่งข่าวจากสมัชชาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคใต้  จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 ตุลาคม 2566 เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจังหวัดภาคใต้ จะเปิดประชุมใหญ่ที่ร้อยทองรีสอร์ต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง  โดยจะมีเข้าร่วมประชุม เช่น นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผุ้แทนราษฎร จ.พัทลุง พรรครวมไทยสร้างชาติ  นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง (อบจ.) และผู้เลี้ยงเกษตรกรรายย่อยภาคใต้ ประมาณ 300 คน เพื่อหารือประชุม และรวมตัวกันเป็นองค์กรเกษตรกรเข้มแข็งเพื่อเป็นแกนกำลังประสานงานไปยังจังหวัด  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้ง  รัฐบาลและรัฐสภา  คราวสถานการณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยประสบปัญหาต่าง ๆ 

2. เพื่อหารือในการจัดตั้งบริษัทสุกรของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย  พร้อมกับการจัดตั้งตลาดชุมชนเนื้อสุกร 1 ตำบล 1 บริหารจัดการโดยเกษตรกร  โดยจะเป็นตลาดชุมชนทั่วทุกอำเภอ ทั่วทั้งจังหวัด  เพื่อสร้างตลาดของเกษตรกร เพื่อจำหน่ายสุกรของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีกว่า 7,000 ตำบล กว่า 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ เมื่อได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ก็บริโภคสุกรของเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยก็เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

“ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคใต้ ที่เลี้ยงสุกรอันดับต้น ๆ คือ จ.พัทลุง ประมาณ 4,000 ราย จ.นครศรีธรรมราช กว่า 4,000 ราย และยังมีอีกหลายจังหวัดภาพรวมแล้วประมาณ 10,000 กว่าราย” แหล่งข่าว กล่าว 

นายภักดี ชูขาว  เจ้าของฟาร์มสุกร จ.พัทลุง  กล่าวเพิ่มเติมว่า สมัชชาผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคใต้ จะมีวาระการประชุมหัวข้อเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลบ รอ.ธรรมนัส พรหมาเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เช่น 1. เรื่องการเจรจาในการเลี้ยงสุกรของเกษตรสุกรรายย่อยภาคใต้กับผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรรายใหญ่ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทมหาชน เพื่อจัดสรรพื้นที่การเลี้ยงสุกร 2. เรื่องการเลี้ยงสุกรโดยตัดตอนลดแม่พันธุ์สุกร ลดลูกสุกรขุน โดยให้รัฐบาลสนับสนุนในการลดสุกรขุนโดยนำมาชำแหละแปรรูปเป็น เช่น หมูย่าง ฯลฯ 

“ถ้าไม่มีการตัดตอนวงจรการเลี้ยงสุกร ในปี 2567 เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ก็จะไม่มีโอกาสดีขึ้น และต้องล้มเลิกไปในที่สุด” นายภักดี กล่าว  

นายภักดี กล่าวอีกว่า ขณะนี้การเลี้ยงสุกรเกษตรกรรายย่อยต่างประสบภาวะขาดทุนที่หนักมากประมาณ 30 บาท และ 35 บาท / กก. สุกรขนาด 100 กก. ขาดทุนประมาณ 3,000 – 3,500 บาท / ตัว เมื่อออกสุกรจากฟาร์มจะขาดทุนทันที 30,000 -บาท และ 35,000 บาท / ครั้ง

นายภักดี กล่าวว่า  ขณะที่ราคาประกาศของสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ราคา 66 บาท / กก. ขณะนี้สุกรของเกษตรกรรายย่อยหน้าฟาร์มโบรกเกอร์จะมาซื้อขายราคาประมาณ 50 บาท  55 บาท และ 56 บาท / กก. เกษตรกรจำยอมต้องขาย เพราะลากการเลี้ยงเอาไว้จะแบกรับกับราคาค่าอาหารไว้ไม่ได้จะขาดทุนเพิ่มอีก

นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าเลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า  ราคาสุกรซื้อขายหน้าฟาร์มที่ราคา 50 บาท  55 บาท / กก. ถือว่าเป็นราคาที่ต่ำสุดแล้ว ในขณะเดียวกันราคาต้นทุนการผลิตจะเคลื่อนไหวที่ 80 -85 บาท / กก. เกษตรกรรายย่อยต่างประสบภาวะขาดทุนและจะขาดทุนกันทั่วประเทศ คาดการณ์ว่าน่าจะไม่เหลือเกษตรกรกรรายย่อยอีกคราวหนึ่ง

นายปรีชา กล่าวว่า ความจริงทางออกมีอยู่แต่ไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คือการลดแม่พันธุ์ และลดสุกรขุน และชะลอการเพิ่มในการเลี้ยงสุกร เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างผู้บริโภคและผู้เลี้ยง

“การไม่ขยายการเลี้ยงสุกรเพิ่มเติมสำหรับเกษตรกรรายย่อยแทบจะไม่มี และกลุ่มเกษตรกรที่จะเข้ามาลงทุนเลี้ยงสุกรรายใหม่ก็แทบจะไม่มีเช่นกัน  ที่มีอยู่ต่างเป็นผู้เลี้ยงอาชีพดั่งเดิม เพราะเป็นอาชีพ”

นายปรีชา กล่าวอีกว่า ในส่วนที่ลงทุนการเลี้ยงหรือขยายเพิ่มเติมจะไม่เกิดขึ้นกับเกษตรกรกรรายย่อย และเกษตรกรนักลงทุนรายใหม่ แต่ที่มีการขายเพิ่มเติมจะเป็นกลุ่มของผู้เลี้ยงสุกรฟาร์มขนาดใหญ่ การเลี้ยงขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นก็ควรจะเป็นการตลาดไปต่างประเทศ ซึ่งไม่ควรเข้ามาแทรกแซงตลาดของเกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่ จนปัจจุบันตลาดเนื้อสุกรต่างเป็นตลาดของผู้เลี้ยงสุกรายใหญ่ที่มีครบวงจร ทั้งฟาร์ม โรงเชือด ตลาดและช๊อปโดยส่งถึงอำเภอ ตำบล หมูบ้านถึงบ้าน.

โดย...อัสวิน  ภักฆวรรณ