ทั่วไทยล้มป่วยไข้หวัดใหญ่ 3.4 แสนดับแล้ว 8 -โคราชอ่วมพุ่งกว่า 1.1 หมื่นราย

ทั่วไทยล้มป่วยไข้หวัดใหญ่ 3.4 แสนดับแล้ว 8 -โคราชอ่วมพุ่งกว่า 1.1 หมื่นราย





ad1

นครราชสีมา-ปลายฝนต้นหนาว ไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดเพิ่มไม่หยุด ทั่วประเทศล้มป่วยล้นรพ.กว่า 3.4 แสนรายแล้ว และเสียชีวิต 8 ราย โคราชช่วง 8 สัปดาห์ย้อนหลัง เจ็บป่วยกว่า 11,400 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 (สคร.9) จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนลดลง และเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลง ทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสถานศึกษาหลายแห่งเปิดเทอมแล้ว มีเด็กนักเรียนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้ง มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน และพื้นที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก เช่น สถานที่ทำงาน โรงพยาบาล จึงอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในชุมชนเป็นวงกว้าง

กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข สคร.9 นครราชสีมา รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 24 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย มากถึง 341,917 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย  ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ  ในขณะที่กรมควบคุมโรค รายงานข้อมูลสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ วันที่ 30 ตุลาคม 2566 ว่า จังหวัดที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากสุด 3 อันดับแรก คือ 1.กรุงเทพมหานคร เสียชีวิต 2 ราย และเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากสุด 56,531 ราย  , 2.จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และ 3.จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิต  1 ราย โดยกลุ่มอายุที่มีผู้ป่วยมากสุด คือกลุ่มอายุ 5-14 ปี ซึ่งป่วยมากถึง 142,846 ราย และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยหญิงมากกว่าผู้ป่วยชาย

ในเขตสุขภาพที่ 9 ดูแล 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ พบว่า สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 - 21 ตุลาคม 2566 มีผู้ป่วยสะสม 43,341 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากสุด คือกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 0-4 ปี ตามลำดับ ซึ่งเมื่อแยกเป็นรายจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ช่วง 8 สัปดาห์ย้อนหลัง คือในช่วงวันที่ 20 สิงหาคม – 14 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย 28,935 ราย โดยจังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วยมากสุด 11,462 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2565 ถึง 4.91 เท่า โดยช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 มีผู้ป่วยแค่ 1,928 รายเท่านั้น  ขณะที่จังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วยมากเป็นอัน 2 จำนวน 6,784 ราย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว 9.62 เท่า โดยปี 2565 มีผู้ป่วยแค่ 649 ราย  ส่วนจังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วยมากเป็นอัน 3 จำนวน 5,845 ราย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว 7.50 เท่า โดยปี 2565 มีผู้ป่วย 721 ราย และจังหวัดชัยภูมิ ในช่วง 8 สัปดาห์ย้อนหลังพบผู้ป่วยน้อยสุด จำนวน 4,844 ราย แต่ก็มากกว่าปี 2565 ถึง 44.70 เท่า เพราะปี 2565 มีผู้ป่วยแค่ 107 รายเท่านั้น

จึงเห็นได้ว่า จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในปีนี้เพิ่มขึ้นสูงมาก และคาดว่า จะมีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกเพราะโรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันได้ง่าย รับเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น และยังสามารถแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย หรือมีการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งอาการป่วยคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ

ดังนั้นขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ สวมหน้ากากอนามัย และขอให้ยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่  โดยประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป   2.เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี   3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน    4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป    5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้     6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการด้วย และ 7.ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง

**เครดิตภาพ** :  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ/นครราชสีมา ข่าว