“เสบียงเมืองโมเดล”ยกระดับรายได้คนจนบันนังสตา

“เสบียงเมืองโมเดล”ยกระดับรายได้คนจนบันนังสตา





ad1

“เสบียงเมืองโมเดล” เปิดฤดูกาลปลูกข้าวโพดหวาน บันนังสตา จากโครงการวิจัย “นวัตกรรมส่งเสริมธุรกิจเกษตรเพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนยากจน อ.บันนังสตา จ.ยะลา” หรือ เสบียงเมืองโมเดล จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการใน 3 ตำบล คือ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ ต.บันนังสตา และ ต.ตลิ่งชัน ภายใต้ ชุดโครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม จังหวัดยะลา SRA 2566 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.

ด้วยภูมิศาสตร์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีครัวเรือนยากจน จำนวน 2,607 ครัวเรือน คิดเป็นประชากร จำนวน 10,019 คน จัดเป็นอำเภอที่มีครัวเรือนยากจนเป็นลำดับที่ 3 ของจ.ยะลา โครงการ “เสบียงเมืองโมเดล” สามารถขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมให้กับคนในพื้นที่ ขณะเดียวกันบันนังสตาเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบรณ์ มีทุนทางธรรมชาติสูง เอื้อต่อการทำการเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่ทำไร่ ทำสวน การปลูกข้าวโพดหวานจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในนการส่งเสริมให้มีการปลูก รวมทั้งวางแผนการตลาด สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จริยา สุขจันทรา หัวหน้าโครงการวิจัยนวัตกรรมส่งเสริมธุรกิจเกษตรเพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนยากจน อ.บันนังสตา จ.ยะลา : เสบียงเมืองโมเดล (OM 2) กล่าวว่า“โครงการนี้เป็นการนำความรู้และเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยมาช่วยชุมชนในการพัฒนาทักษะอาชีพทางการเกษตร โดยมีพืชเป้าหมายคือ ข้าวโพด โดยให้ครัวเรือนเป้าหมายจำนวน 25 ครัวเรือนปลูกข้าวโพดหวาน ซึ่งเป็นบริบทของพื้นที่อยู่แล้วที่มีลักษณะเด่นของข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่นี้มีลักษณะที่ดี เราให้ความรู้ตั้งแต่เรื่องของการดูแลดิน การปลูก การนำไปแปรรูป หรือการตลาด เชื่อมโยงให้คนโดยเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 25 ครัวเรือนนอกจากจะปลูกได้ผลผลิตที่ดีแล้ว สามารถขายได้ด้วย เป็นการยกระดับรายได้ครัวเรือนกลุ่มที่มาร่วมกับเรา”

การดำเนินโครงการวิจัย เสบียงเมืองโมเดล การปลูกข้าวโพดหวานเป็นลักษณะการดำเนินงานเป็นแบบแปลงรวม ในพื้นที่นำร่อง หมู่ที่ 10 ตำบลบันนังสตา ได้รับความอนุเคราะห์ที่ดินจำนวน 7 ไร่ จากนายมูฮำมัด มะหะแซและครอบครัว โดยมีครัวเรือนเป้าหมายเข้ามาใช้ประโยชน์จำนวน 25 ครัวเรือน

นายมะรอพี มาเหาะ ผู้ใหญ่บ้าน ม.10 บ้านบาโงยแจเกาะ ตำบลบันนังสตา บอกว่า กลุ่มเป้าหมายอยู่ในพื้นที่ตำบลบันนังสตา ได้คัดเลือกจากทางอำเภอและมรย. ทีมงานร่วมกับบันฑิตอาสาในพื้นที่ ให้ความรู้ ชี้แจงสร้างความเข้าใจเรื่องโครงการนี้กับชาวบ้าน

“ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ยากจน มีรายได้น้อย บ้างกรีดยาง และลูกจ้างทั่วไป บางคนไม่มีที่ดินทำกิน จริง ๆ มีทั้งหมด 33 ครัวเรือน จากความสนใจของชาวบ้าน กลุ่มที่ 1 ฝึกอาชีพการตัดเย็บ จำนวน 8 คน กลุ่มที่ 2 ทำการเกษตร จำนวน 25 คน การปลูกข้าวโพดแปลงรวมมีพื้นที่ 7 ไร่ เราแบ่งครัวเรือนละหนึ่งแปลง ความยาวและกว้างประมาณ 20x20 เมตร ที่ผ่านมาโครงการต่าง ๆ ไม่เคยลงมาในพื้นนี้ในเรื่องการทำเกษตร หากโครงการนี้ได้ให้ความรู้กับชาวบ้าน เรื่องของการปลูก การดูแล แนะนำขั้นตอนต่าง ๆ ในการปลูกข้าวโพด ขอขอบคุณเจ้าของที่ดิน มรย.และทุก ๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้”

“เมื่อก่อนเคยปลูกข้าวโพดบ้าง แต่ปลูกกินเท่านั้น เพราะไม่มีที่ดินพอจะปลูกขาย ทำงานเป็นลูกจ้างกรีดยาง ช่วงนี้ขายแต่ขี้ยาง ราคาก็ตก  ดีใจมากที่มีโครงการนี้เข้ามา ทำให้เราได้ความรู้การปลูก ให้ที่ปลูก ให้เมล็ดพันธุ์ ให้ปุ๋ยด้วย ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่มารวมตัวของชาวบ้าน เย็น ๆ มาดูแล ใส่ปุ๋ย สนุก ได้มีเพื่อนคุยกันหลายคน เมื่อออกผลผลิตทางมรย.ก็รับซื้อ เราก็มีรายได้แล้ว เขาจะเอาไปแปรรูปเป็นน้ำข้าวโพดด้วย ดีใจมาก ๆ” นางหามีละ นิสะ หรือ กะละห์ ชาวบ้านวัย 45 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการบอกความรู้สึกตลอดระยะที่ผ่านมา มรภ.ยะลาได้ทำงานร่วมกับมทร.ศรีวิชัย ให้ความรู้ เทคโนโลยี ร่วมถึงการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนาเชิงพื้นที่

ผศ.จริยา สุขจันทรา หัวหน้าโครงการวิจัยนวัตกรรมส่งเสริมธุรกิจเกษตรเพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนยากจน กล่าวต่อว่า มรภ.ยะลา ทำงานร่วมกับมทร.ศรีวิชัย ในการนำความรู้และเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการพัฒนาทักษะอาชีพในพื้นที่ ในส่วนของ อบต. ผู้ใหญ่บ้าน บัณฑิตอาสา เป็นเครือข่ายที่สำคัญที่สุดในพื้นที่ 

“เขาเป็นคนอยู่ในพื้นที่ รู้ว่าครัวเรือนเป้าหมายอยู่ตรงไหน การบูรณาการร่วมกันในการที่จะประชาสัมพันธ์ให้ครัวเรือนเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ พื้นที่มีความสำคัญมาก ให้ความมั่นใจได้ว่า คนที่เราเข้าไปช่วยเหลือคือกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ ประสาน อบต. ในการสนับสนุนปัจจัยบางอย่าง ในอนาคตที่เราคิดว่าลำพังมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งเองที่เรามีความรู้เป็นหลัก เราคงจะไม่สามารถพัฒนาได้ได้อย่างยาวนาน เมื่อโครงการวิจัยเสร็จสิ้น เราออกมาจากพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. บัณฑิตอาสา เป็นกลไกสำคัญที่จะดูแลช่วยเหลือสนับสนุนต่อในการทำงาน”

“ตรงนี้จึงเหมือนเป็นต้นแบบในการที่เป็นแปลงรวมให้คนอื่นเข้ามารวมกันทำการเกษตร ทำงานเกษตร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกื้อกูล ช่วยเหลือกันในการทำงาน ทำให้การประกอบอาชีพทางการเกษตรได้ผลผลิตที่ดี เกิดแรงจูงใจในการทำงานร่วมกัน เพราะเขาร่วมโครงการมีความรู้และมีรายได้ จะทำให้สามารถกลับไปทำต่อที่บ้านได้ด้วย”

โครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม จังหวัดยะลา (SRA 2566) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพการเกษตร และเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนเป้าหมาย ยกระดับขีดความสามารถของครัวเรือนเป้าหมายในการวางแผน การผลิตผักผลไม้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนเกิดการรวมกลุ่มอาชีพและสร้างโอกาสทางสังคมของครัวเรือนเป้าหมาย อันจะทำให้ยกระดับรายได้ของครัวเรือยากจนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น