เกษตรกรโคราชยิ้มออกปลูกดอกรักขายกก.ละ100 ยอดออเดอร์ทั้งปี

เกษตรกรโคราชยิ้มออกปลูกดอกรักขายกก.ละ100  ยอดออเดอร์ทั้งปี





ad1

จากสภาพอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งแต่กลับส่งผลดีต่อต้นรักของเกษตรกรที่บ้านจระเข้หิน หมู่ที่ 1 ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพราะดอกรักจะออกดอกให้ผลผลิตดี แถมยังดอกใหญ่ สวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาด  ทำให้ราคาจำหน่ายของดอกรักในช่วงนี้ถือว่าค่อนข้างสูง อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท สร้างรายได้ให้แก่เกษตรเป็นอย่างดีมาก

นายเชาว์ ฮวดกระโทก อายุ 62 ปี หนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกดอกรักส่งจำหน่าย บอกว่า ใช้พื้นที่ 2 ไร่ข้างคอกวัว ปลูกดอกรักส่งจำหน่ายมานานเกือบ 30 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นพืชที่เติบโตดีในทุกพื้นที่ และยังดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย จะให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้งเท่านั้น และยังเป็นพืชที่อายุยืน ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บดอกไปขายได้หลายสิบปี เพียงแค่ดูแลตัดแต่งต้นไม่ให้สูงเกินไป และขั้นตอนการเก็บจะยุ่งยากบ้าง ต้องระมัดระวังยางของดอกรักเป็นพิเศษ ห้ามไม่ให้ยางเข้าตาเด็ดขาด เพราะจะมีสารระคายเคืองรุนแรง อาจถึงขั้นตาบอดได้ 

นายเชาว์ บอกต่อว่า ในส่วนเรื่องโรคแมลงก็มีบ้าง อย่างเช่น แมลงดูดน้ำเลี้ยง จำพวกเพลี้ยต่างๆ แต่มีไม่มากนัก  ส่วนการให้ผลผลิต ต้นรักจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อปลูกไปได้ ประมาณ 6 เดือน จากนั้น ก็สามารถเก็บได้วันเว้นวัน ตลอดทั้งปี เพราะดอกรักเป็นดอกไม้ที่ร่วงหล่นเร็ว หากเกิน 2 วันก็จะร่วงทันที เหมือนกับคำเปรียบเปรยที่ว่า "รักง่าย หน่ายเร็ว” โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ดอกรักจะออกดอกดกและมีคุณภาพดีเป็นพิเศษ  จะเว้นการออกดอกบ้างในช่วงหน้าฝน เพราะต้นรักเป็นพืชไม่ชอบน้ำมากนัก

สำหรับผลผลิตของดอกรัก จะให้ผลผลิตประมาณ 2 – 4 กิโลกรัมต่อไร่ เก็บได้วันเว้นวัน ส่งจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 80 –100 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดผลิตพวงมาลัยในตัวเมือง  ซึ่งบ้านจระเข้หินแห่งนี้ จะมีการรวบกลุ่มกันเพื่อรวบรวมส่งขายเป็นรายสัปดาห์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการเก็บดอกรักขาย สัปดาห์ละหลายพันบาทแล้วแต่พื้นที่ปลูก อีกทั้งยังได้สร้างงานให้กับผู้เฒ่าผู้แก่และผู้ว่างาน เพราะจะมีการว่าจ้างให้ช่วยเก็บถอดเปลือกดอก ในราคากิโลกรัมละ 15 บาทด้วย  ถือว่าสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

ปัจจุบัน มีเกษตรกรผู้ปลูกดอกรักในพื้นที่บ้านจระเข้หิน ประมาณ 20 ราย พื้นที่เพาะปลูก รวมกว่า 50 ไร่ ส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่รอบบ้านเรือน หรือพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อย่างเช่น คันนา ปรับพื้นที่มาเพาะปลูกดอกรัก เพราะเป็นพืชทนต่อสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งได้ดี แต่ด้วยสาเหตุที่ยางดอกรักมีพิษระคายเคือง จึงทำให้ทุกวันนี้ การปลูกดอกรักส่งขายเริ่มลดน้อยลงทุกที .

โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา