ผอ.ศปพร. พบปะ ให้กำลังใจ พี่น้องสมาชิกโครงการศิลปาชีพ

ผอ.ศปพร. พบปะ ให้กำลังใจ พี่น้องสมาชิกโครงการศิลปาชีพ





ad1

ผอ.ศปพร. พบปะ ให้กำลังใจ พี่น้องสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ วัดพระพุทธ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

ที่ วัดพระพุทธ ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เดินทางลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยม และพบปะให้กำลังใจพี่น้องสมาชิกโครงการศิลปาชีพวัดพระพุทธ โดยได้รับฟังบรรยายสรุปประวัติความเป็นมา สอบถามปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินงาน และได้มอบชุดเครื่องเสียงเคลื่อนที่ พร้อมไมค์ จำนวน 1 ชุด ซึ่งเป็นความต้องการของสมาชิกฯ เพื่อใช้ในการสื่อสารการประชุมต่างๆ ของกลุ่ม และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินงานต่อไป

สำหรับโครงการศิลปาชีพกลุ่มทอผ้า วัดพระพุทธ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 และ โครงการศิลปาชีพกลุ่มปักผ้า วัดพระพุทธ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 ดำเนินกิจการทอผ้าและปักผ้า เพื่อนำส่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส สำหรับวัสดุอุปกรณ์ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศิลปาชีพฯ คณะทำงานฯ ที่ 3 จัดนายทหารประสานงานอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน และประสานเรื่องต่าง ๆ ของสมาชิก ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าวัดพระพุทธ มีสมาชิก จำนวน 73 ราย มี นางคล้าม สาศรีสุข ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มปักผ้า วัดพระพุทธ มีสมาชิก จำนวน 80 ราย สมาชิกนับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 52 ราย นางสม ทองจันทร์ ทำหน้าที่เป็นหัวกลุ่มทอผ้า โดยสมาชิกกลุ่มฯ นับถือศาสนาไทยพุทธ จำนวน 28 ราย โดยดำเนินงานกิจกรรมกลุ่มร่วมกันด้วยความสามัคคีภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม โดยโครงการศิลปาชีพมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอนศิลปาชีพแขนงต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการจัดหาวัตถุดิบ รับซื้อ เก็บรักษา และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมประกอบ อาชีพเสริม เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ตามแนวพระราชดำริ

ซึ่งมีเป้าหมายการดำเนินงาน
1. กลุ่มศิลปาชีพฯ ในความรับผิดชอบ ได้กลับมาดำเนินงานได้ดีและต่อเนื่อง สนองพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “สืบสาน รักษา และต่อยอด”
2. กลุ่มศิลปาชีพเป็นศูนย์รวมจิตใจ และศูนย์รวมความจงรักภักดีของคนในพื้นที่
3. อาคารศิลปาชีพที่ชำรุดทรุดโทรม ต้องได้รับการปรับปรุง ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดี และมีสง่าราศี
4. ส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสืบสาน รักษา และอนุรักษ์งานศิลปาชีพ เพื่อทดแทนสมาชิกรุ่นเก่าซึ่งมีอายุมาก
5. จัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพในพื้นที่ให้มากขึ้น โครงการศิลปาชีพในความรับผิดชอบมีจำนวน 16 แห่ง ปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 868 คน นับถือศาสนาพุทธ 232 คน ศาสนาอิสลาม 636 คน ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

สำหรับที่มาของโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชดำริจัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ” ขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ราษฎร ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไว้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทยสืบไป

โดย...แวดาโอ๊ะ หะไร / อัสมา บินมะนุ จ.นราธิวาส