กรมชลฯ เดินหน้าโครงการประตูระบายน้ำ "น้ำปั้ว น่าน - ฆะมัง พิจิตร" สร้างขั้นบันไดน้ำ แก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม ในลำน้ำน่านยั่งยืน

กรมชลฯ เดินหน้าโครงการประตูระบายน้ำ "น้ำปั้ว น่าน - ฆะมัง พิจิตร" สร้างขั้นบันไดน้ำ แก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม  ในลำน้ำน่านยั่งยืน





ad1

น่าน -  กรมชลฯ เดินหน้าโครงการประตูระบายน้ำ "น้ำปั้ว น่าน - ฆะมัง พิจิตร" สร้างขั้นบันไดน้ำ แก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม  ในลำน้ำน่านยั่งยืน

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ พร้อมด้วย นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 2 นายนิพนธ์ สนั่นเรืองศักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ กรมชลประทาน พร้อมคณะสื่อมวลชน  ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 18 -19 เมษายน 2567 เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน และประชุมแผนหลักการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนาอาคารบังคับน้ำแม่น้ำน่าน ในเขตจังหวัดน่าน พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์  จำนวน 7 โครงการ  โดยคัดเลือก 2 โครงการที่ดำเนินการก่อสร้างในลำน้ำน่าน ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน คือ "ประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน จังหวัดน่าน  และ ประตูระบายน้ำฆะมัง  จังหวัดพิจิตร"  มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม ในลำน้ำน่านอย่างยั่งยืน

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำมาโดยลำดับ โดยมีแหล่งเก็บกักน้ำที่สำคัญ อาทิเช่น เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก เขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนทดน้ำนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เมื่อรวมกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ 10,430.25 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีแผนพัฒนาจัดหา แหล่งเก็บกักน้ำในระยะกลาง (ปี 2565-2575) เพิ่มเติมอีก เช่น อ่างเก็บน้ำน้ำปาด (ภูวังผา) อ่างเก็บน้ำน้ำกอน อ่างเก็บน้ำน้ำกิ และอ่างเก็บน้ำน้ำยาว เป็นต้น ซึ่งหากพัฒนาได้ทั้งหมดก็มีน้ำเก็บกักได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 799 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทานจึงมีนโยบายที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีกโดยการใช้ลำน้ำน่านเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาแผนหลักและความเหมาะสม รวมถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน สำหรับผลการศึกษาจัดทำแผนหลักการพัฒนาประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน มีทั้งหมด จำนวน 7 โครงการ ในเขตจังหวัดน่าน พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์  โดยนำมาจัดลำดับความสำคัญและคัดเลือก 2 โครงการที่ดำเนินการก่อสร้างในลำน้ำน่านและมีความจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่ ประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน  มีความจุ 3.55 ล้าน ลบ.ม. ขนาดบานประตูความกว้าง 12.50 เมตร สูง 10 เมตร จำนวน 6 ช่อง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน พื้นที่ชลประทาน 16,320 ไร่  และ ประตูระบายน้ำฆะมัง มีความจุ 24.77 ล้าน ลบ.ม. ขนาดบานประตูความกว้าง 12.50 เมตร สูง 10 เมตร จำนวน 7 ช่อง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลฆะมัง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร พื้นที่ชลประทาน 30,849 ไร่ ทั้งนี้ เมื่อกรมชลประทานดำเนินการตามแผนงาน 7 โครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ลำน้ำน่านสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 152.99 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิม 141,720 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 36,404 ไร่ รวมพื้นที่ชลประทาน 178,124 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค-บริโภค การประมง และการปศุสัตว์ สนับสนุนประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยวและกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 2

นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 2   ได้กล่าวว่า การก่อสร้างประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปั้ว อ.เวียงสา  มีระยะห่างประมาณ 20 กิโลเมตร จากประตูระบายน้ำเขื่อนธงน้อย บ้านคอวัง ต.กองควาย อ.เมืองน่าน ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานงาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งนี้ประตูระบายน้ำทั้งสองแห่งเป็นเสมือนตุ่มเก็บกักน้ำแบบขั้นบันไดในลำน้ำน่าน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำหลาก   สำหรับประเด็นข้อกังวลด้านผลกระทบทั้งด้านปริมาณน้ำสำหรับเกษตรกรเหนือประตูระบายน้ำและท้ายน้ำ   ผลกระทบด้านการบริหารจัดการน้ำไม่ให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรหรือพื้นที่การเกษตรริมฝั่งประตูระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก   กรณีเศษซากสวะที่ไหลมากับน้ำป่าและอาจขวางทางน้ำบริเวณประตูระบายน้ำ รวมไปถึงผลกระทบด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในลำน้ำน่าน ซึ่งทุกข้อกังวลเหล่านั้นทางกรมชลประทานได้ให้ความสำคัญและมีการออกแบบประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันผลกระทบอย่างรอบด้าน ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน จะสร้างประโยชน์และเกิดการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นายโชติธนินทร์ เดโชวชิรสวัสดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำปั้ว

ทางด้าน นายโชติธนินทร์ เดโชวชิรสวัสดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำปั้ว  พร้อมด้วย กำนันตำบลน้ำปั้ว แกนนำผู้แทนชุมชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำ  เปิดเผยว่า  พื้นที่ตำบลน้ำปั้วและตำบลใกล้เคียง ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมทั้งไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว - ไหล่น่าน จะช่วยเก็บกักน้ำให้เพียงพอได้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำหลาก โดยจะเกิดประโยชน์ กับ 4 ตำบล เหนือประตูระบายน้ำ ได้แก่ ตำบลนาเหลือง     ตำบลน้ำปั้ว  ตำบลตาลชุม  และ ตำบลกองควาย   ซึ่งมี 11 กลุ่มผู้ใช้น้ำของทั้ง 4 ตำบลจะร่วมกันบริหารจัดการน้ำ   และอีก 2 ตำบลท้ายน้ำ คือ ตำบลกลางเวียง และ ตำบลไหล่น่าน ก็จะได้รับประโยชน์จากประตูระบายน้ำแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน

สำหรับจังหวัดน่าน มีพื้นที่ทั้งหมด 7,170,045 ไร่ มีพื้นที่เกษตรกรรม 2,598,131 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 36.32  เป็นพืชไร่หมุนเวียน  พืชไร่  ไม้ยืนต้น  ไม้ผล  และพื้นที่นา  พืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าวโพด  ข้าวไร่  มันสำปะหลัง  ยางพารา ไม้สัก ลำไยและลิ้นจี่ พื้นที่ชลประทาน 63,840 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 58,620 ไร่ รวม 122,460 ไร่   เป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง  อ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง  ฝายทดน้ำ 6 แห่ง    โครงการชลประทานขนาดเล็ก อ่างเก็บน้ำ 48 แห่ง และโครงการพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำ 26 แห่ง   แต่พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ประสบปัญหาการขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคและเพื่อเกษตรกรรม

ระรินธร   เพ็ชรเจริญ  รายงาน