น่าน - จุฬาฯ จับมือกับ ซีพี สานพลังพัฒนา หน้ากากอนามัยพอดี “POR-DEE” ป้องกันและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อคนไทย


สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์และพื้นที่ต้นแบบเพื่อความยั่งยืน จังหวัดน่าน จัดเวทีเสวนา “Chula-CP สานพลัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ @น่าน” เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการป้องกันและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และความสำเร็จในการพัฒนาหน้ากากอนามัยพอดี “POR-DEE” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นและออกแบบมาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ ในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกภูมิภาค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน
สำหรับเวทีเสวนาความร่วมมือ การป้องกันและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งประกอบด้วย ศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ คณบดีสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิต ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการ ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร และประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ และ นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งได้มีการร่วมกันหาแนวทางป้องกันสุขภาพของคนไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันไฟและค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดย ศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ ได้สะท้อนมุมมองภาพรวมของปัญหาหมอกควันภาคเหนือ และนำเสนอโครงการลดปัญหาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โครงการโกโก้) ทางด้าน ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ได้นำข้อมูลเรื่อง “EUDR” กฎใหม่ EU ยกระดับการเกษตรปกป้องป่า ซีพีกับนโยบาย “ไม่รับซื้อ-ไม่นำเข้า” ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่เผาและรุกป่า และ การผลักดันระบบ Corn Traceability ในไทยและเมียนมาร์ ขณะที่ นายจอมกิตติ ศิริกุล ได้นำเสนอโมเดลการปลูกพืชทดแทนด้วยการสนับสนุน "เกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ของเครือซีพี และ ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร นำเสนอภาพรวมความร่วมมือและจุดเด่นของหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5
ซึ่งในโอกาสนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ส่งมอบหน้ากาก POR-DEE (พอดี) ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้แก่ ศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ คณบดีสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการพัฒนาเครือข่ายธุรกิจชุมชนการพัฒนาโคเนื้อ ที่สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร และศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค พร้อมทั้งลงพื้นที่เยี่ยมชมฟาร์มโคเนื้อและการแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายการพัฒนาโคเนื้อและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ
ระรินธร เพ็ชรเจริญ รายงาน