วิศวลาดกระบังปั้นนวัตกรพลังงานรุ่นใหม่ เสริมศักยภาพประเทศไทยสู่สังคมพลังงานสีเขียว


วิศวลาดกระบัง สนับสนุนและส่งเสริมห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้าปั้นนวัตกรพลังงานรุ่นใหม่ เสริมศักยภาพประเทศไทยสู่สังคมพลังงานสีเขียว
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของ “ห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการวิจัย พัฒนา และทดสอบเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายด้านพลังงานสีเขียวและความยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และเป้าหมาย SDGs
รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ห้องปฏิบัติการแห่งนี้มีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการศึกษา ทดลอง และวิจัย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ คำฝอย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพล โพธิ์พงศ์วิวัฒน์ จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นผู้ดูแลหลัก โดยมุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้จากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อพัฒนาโซลูชันที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรองรับการใช้งานได้จริงทั้งในระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรม
ภารกิจหลักของห้องปฏิบัติการนี้ คือ การทดสอบและประเมินสมรรถนะของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร ประกอบด้วย:
การทดสอบแบตเตอรี่ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและระบบโทรคมนาคม ทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของแบตเตอรี่ รวมถึงฟังก์ชันการทำงานต่างๆ ของ BMS เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้สูงสุด
การทดสอบเครื่อง Rectifier ที่ใช้งานร่วมกับแบตเตอรี่ ตรวจสอบสมรรถนะและฟังก์ชันการทำงานของเครื่อง Rectifier อย่างละเอียด เพื่อประเมินความสามารถในการจ่ายและควบคุมพลังงานอย่างมีเสถียรภาพ
การทดสอบความเข้ากันได้ของเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากับระบบ PEA Volta Platform โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน OCPP ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ใช้เป็นเกณฑ์กลางระดับประเทศ เพื่อรับรองความสอดคล้องของระบบอัดประจุกับโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าปัจจุบัน
ด้านงานวิจัย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่:
1. งานวิจัยด้านพลังงานทดแทน
พลังงานไฮโดรเจน มุ่งพัฒนาระบบผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้ระบบ Electrolyzers ที่ควบคุมด้วยวงจรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานสะอาดที่ไม่มีคาร์บอน
พลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจสอบและวิเคราะห์ประสิทธิภาพ รวมถึงอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อรองรับการใช้งานระยะยาวและเพิ่มความคุ้มค่าด้านการลงทุน
พลังงานลม วิจัยและจำลองระบบผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม เพื่อศึกษาศักยภาพในการผลิตพลังงาน และการนำไปใช้จริงในพื้นที่ที่มีลักษณะลมเฉพาะ
2. งานวิจัยด้านยานยนต์ไฟฟ้า
การพัฒนารถกระบะดัดแปลง วิจัยการดัดแปลงจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ให้เป็นระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเต็มรูปแบบ เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบขนส่งที่ปลอดคาร์บอน
การพัฒนาเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบติดตั้งในรถ (On-board Charger) มุ่งออกแบบระบบควบคุมการอัดประจุที่ติดตั้งภายในรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถรองรับแหล่งพลังงานภายนอกได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพสูงสุด
การพัฒนาระบบส่งกำลังไฟฟ้าแบบไร้สาย (Wireless Power Transfer) วิจัยระบบอัดประจุไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้สาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ความสะดวก และศักยภาพในการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
นอกจากบทบาทในด้านเทคนิค ห้องปฏิบัติการแห่งนี้ยังเป็นเวทีสำคัญในการ บ่มเพาะนักวิจัยและนวัตกรรุ่นใหม่ โดยเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาและบุคลากรทางวิศวกรรมได้ลงมือปฏิบัติจริงในโครงการต้นแบบ นำไปสู่การต่อยอดในระดับเชิงพาณิชย์และสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
ห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้าแห่งนี้ คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง